วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รายงานการประชุมกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ครั้งที่ ๗/๒๕๕๖



รายงานการประชุมกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
ครั้งที่  ๗/๒๕๕๖  วันที่  ๑๖  กรกฎาคม  ๒๕๕๖
  ห้องประชุมสภาเทศบาล  ชั้น ๓

เปิดประชุมเวลา ๑๐.๐๐ น.
                เมื่อคณะกรรมการมาพร้อมกันแล้ว นางสุชาดา พันธ์นรา  ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฯ ได้กล่าวเปิดการประชุมตามระเบียบวาระดังนี้
 
ระเบียบวาระที่ ๑ : ประธานแจ้งที่ประชุม
ด้วยในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เทศบาลได้จัดงานวันเข้าพรรษา ณ ลานคนเดิน ภายในงานมีซุ้มจำหน่ายอาหารจากกลุ่มหรือชมรมต่างๆ ขอเชิญทุกคนเข้าร่วมงานด้วย เวลา ๑๘.๓๐ น. เป็นต้นไป

ระเบียบวาระที่ ๒ : รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่  ๖/๕๖  วันที่  ๒๑  มิถุนายน  ๒๕๕
มติที่ประชุม : รับรองรายงานประชุม

ระเบียบวาระที่ ๓ : เรื่องแจ้งเพื่อทราบ

                เรื่องที่ ๑ : รายงานสถานะทางการเงินของกองทุนฯ ยอดยกมา  ๖,๒๒๒,๕๘๙.๙๗  บาท โดยมี รายรับ-รายจ่าย ดังนี้
๑. จ่ายให้กิจกรรมประเภทที่ ๑
๑.๑ โครงการดูแลหญิงตั้งครรภ์ภาวะซีดฯ                                            เป็นเงิน      ๑๐,๒๐๐    บาท
๑.๒ โครงการแก้ปัญหาภาวะโภชนาการหญิงตั้งครรภ์                        เป็นเงิน      ๔๘,๖๐๐    บาท
๒. จ่ายให้กิจกรรมประเภทที่ ๓
๒.๑ โครงการคัดกรองเบาหวานและความดัน ศรีอามานฯ                 เป็นเงิน      ๑๕,๘๐๐    บาท
๓. จ่ายให้กิจกรรมประเภทที่ ๔
๓.๑ ค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการฯ ประจำเดือนมิถุนายนฯ               เป็นเงิน         ๗,๐๐๐    บาท
๓.๒ค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการฝ่ายแผนฯครั้งที่ ๓/๕๖                     เป็นเงิน        ๔,๔๐๐    บาท
๓.๓ ค่าใช้จ่ายไปราชการอนุฝ่ายเลขาฯ                                                  เป็นเงิน      ๑๓,๕๒๐   บาท
                                                                                                รวมรายจ่าย                     เป็นเงิน     ๙๙,๕๒๐     บาท
๔. รับเงินคืน
๔.๑ จากโครงการต่างๆ                                                                                 เป็นเงิน      ๔,๒๗๔   บาท
                                                                                                รวมรายรับ                        เป็นเงิน     ๔,๒๗๔    บาท
                                                                                     คงเหลืองบประมาณกองทุน       ๖,๑๒๗,๓๔๓.๙๗   บาท
มติที่ประชุม : รับทราบ
ระเบียบวาระที่ ๔ : เรื่องเพื่อพิจารณา

เรื่องที่ ๑ : การพิจารณาโครงการที่ขอสนับสนุนงบประมาณ จากหน่วยงาน/ภาคประชาชน จำนวน ๕ โครงการ

โครงการที่ ๑ โครงการรำดาบไท้เก็กเพื่อสุขภาพ  ชมรมไท้เก็กอำเภอสุไหงโก-ลก
                โครงการนี้เป็นโครงการที่มีลักษณะการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายด้วยการรำดาบไท้เก็ก (รำมวยเต้าซิ่ม)ที่ถูกต้อง และได้รับการฝึกสอนจากอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะ โดยจะครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ วัย และเพศของชาวชุมชน โดยเฉพาะวัยผู้สูงอายุที่ไม่สามารถออกกำลังกายด้วยวิธีหนักๆได้ การรำดาบไท้เก็กเป็นทางเลือกที่เหมาะสม  เพราะสามารถบริหารร่างกายได้ทุกส่วน รวมถึงระบบหัวใจ ระบบประสาทและสมองด้วย มีการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน ได้สร้างเสริมสุขภาพ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสม สามารถรำดาบไท้เก็กได้ถูกวิธี มีสุขภาพจิตที่ดี และเป็นทางเลือกหนึ่งของการออกกำลังกายโดยเฉพาะวัยผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายของกิจกรรมเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป ทั้งในและนอกชมรมฯ จำนวนไม่น้อยกว่า ๘๐ คน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ เป็นค่าตอบแทน ค่าที่พัก ค่าพาหนะวิทยากร ค่าอาหารว่าง ค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง  เป็นเงิน ๕๕,๐๐๐ บาท และชมรมไท้เก็กฯ สนับสนุนเพิ่มเติมอีก ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯได้ให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีครอบคลุมถึงชาวชุมชนที่อยู่ในย่านการค้า ผู้สูงวัยสามารถออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม เพียงแต่ในเรื่องค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะของวิทยากรให้เบิกจ่ายตามความเป็นจริง และในส่วนที่ชมรมสนับสนุนให้ชี้รายละเอียดด้วย
มติที่ประชุม : อนุมัติ  และให้ปรับตามคำแนะนำ


โครงการที่ ๒        โครงการส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยกีฬาบาสเก็ตบอล ปี ๒๕๕๖  ชมรมบาสเก็ตบอลสุไหงโก-ลก
โครงการนี้เป็นโครงการที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็ก  เยาวชน และประชาชนผู้สนใจในกีฬาบาสเก็ตบอล ได้มีการพัฒนาทักษะพื้นฐาน ตลอดจนเรียนรู้กฎกติกาต่างๆ เกี่ยวกับกีฬาบาสเก็ตบอล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาสากลที่มีการเล่นอย่างแพร่หลาย โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนและประชาชน มีความรู้และทักษะการเล่นบาสเก็ตบอลที่ถูกต้อง มีโอกาสในการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพร่วมกัน ก่อให้เกิดความสามัคคี ห่างไกลยาเสพติดและอบายมุข โดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มเยาวชนและประชาชนทั่วไป ในเขตเทศบาล จำนวน ๖๐ คน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ เป็นค่าอาหารว่าง ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าตอบแทน ค่าที่พักวิทยากร และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง  เป็นเงิน ๖๘,๓๐๐ บาท และชมรมฯ สนับสนุนเพิ่มเติมอีก ๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ทำความสะอาด ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯได้ให้ความเห็นในเรื่องการบริหารจัดการของชมรมฯ การจัดหาวิทยากรเป็นวิทยากรจากที่ใด มีประกาศนียบัตรระดับใด รวมทั้งเรื่องการประชาสัมพันธ์ แนะนำให้ประชาสัมพันธ์ผ่านเคเบิล น่าจะทั่วถึงมากกว่า ส่วนไวนิลประกอบโครงการทำชุดเดียวน่าจะพอ ซึ่งผู้จัดทำโครงการได้ชี้แจงว่า ได้มีการจัดเก็บข้อมูลของสมาชิกที่เล่นอยู่ตามสนามต่างๆ ส่วนเรื่องวิทยากรเป็นวิทยากรจากมาเลเซีย ที่มีใบประกาศรับรอง ส่วนวิทยากรชาวไทยเป็นผู้เล่นระดับถ้วย ก
มติที่ประชุม : อนุมัติ  และให้ปรับตามคำแนะนำ

 โครงการที่ ๓   โครงการสุขภาพดีกับกีฬาชกมวย  ชุมชนศรีอามาน
                ด้วยในชุมชนศรีอามาน มีครูที่มีประสบการณ์ด้านการชกมวยและการสอนมวย ทำการสอนมวยให้กับเด็กและเยาวชนในชุมชน ซึ่งเป็นการสอนด้วยจิตอาสาไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำให้มีเด็กและเยาวชนสนใจเข้าร่วมฝึกซ้อมการต่อยมวยมากพอสมควร ประกอบกับในชุมชนมีสถานที่เหมาะสมสำหรับใช้ฝึกซ้อมด้วย แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีผู้สนใจมากขึ้น ทำให้ทางชุมชนขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับฝึกซ้อม จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ เป็นค่าอุปกรณ์การฝึกซ้อมวย เช่น กระสอบทราย นวมและเป้าแขน เป็นเงิน ๑๗,๔๔๐ บาท โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชน มีความรู้และทักษะการชกมวยที่ถูกต้อง ส่งเสริมการออกกำลังกายร่วมกัน ก่อให้เกิดความสามัคคี ลดความรุนแรง และห่างไกลยาเสพติด โดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนในชุมชน จำนวน ๓๐ คน ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯได้ให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ประกอบกับการดำเนินงานเป็นความต้องการของชุมชน น่าจะดำเนินการเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกายในรูปกีฬา มีค่าวิทยากร ค่าวัสดุที่เกี่ยวข้องอื่นๆเพิ่มเติมและมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
 มติที่ประชุม : อนุมัติ  

โครงการที่       โครงการดูแล ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ปี ๒๕๕๖  ชุมชนหลังล้อแม็กซ์
                โครงการนี้มีลักษณะการดำเนินงานเป็นการส่งเสริมสุขภาพชาวชุมชนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งมีการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการในชุมชนด้วย ซึ่งในระยะหลังจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน จำนวน ๓๕ คน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้รับความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ การป้องกันโรค มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง รวมทั้งมีการคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น ตลอดจนเพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้รับการดูแลที่บ้านอย่างต่อเนื่อง โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ เป็นค่าอาหาร ค่าอาหารว่าง ค่าตอบแทนวิทยากร และค่าวัสดุที่เกี่ยวข้อง เป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๐๕๐ บาท ทางคณะกรรมการกองทุนฯได้ให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีน่าส่งเสริม เพียงแต่ในการดำเนินงานให้ประสานศูนย์แพทย์ชุมชนด้วย ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทุกชุมชนร่วมกันจัดทำโครงการมหกรรมการคัดกรองหรือรณรงค์ลักษณะเดียวกันนี้อย่างน้อยปีละครั้ง มีการนำเอาผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับคนอื่นๆ และถ้าสามารถทำในนามขององค์กรชุมชนได้น่าจะดี
มติที่ประชุม : อนุมัติ  


โครงการที่       โครงการพัฒนาศักยภาพ อสม.ในการดูแลผู้ป่วยปัญหาทางจิตเวช  รพ.สุไหงโก-ลก
                ด้วยในภาวะสถานการณ์ปัจจุบัน มีปรากฎการณ์ธรรมชาติและภัยต่างๆมากมายที่สามารถเป็นผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของคน ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน  ซึ่งบางครั้งจะสะท้อนออกมาในรูปอาชญากรรม การทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งมีผลต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้ ประกอบกับจากข้อมูลสถิติผู้ป่วยทางจิตเวชของโรงพยาบาล พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาสาสมัครสาธารณสุข มีความรู้ ความเข้าใจ ในการค้นหา ช่วยเหลือ ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่ถูกต้อง และเกิดเครือข่ายในการดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต มีกลุ่มเป้าหมายเป็นอาสาสมัครสุขในชุมชนเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จำนวน ๑๒๐ คน โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ เป็นค่าอาหาร ค่าอาหารว่าง ค่าตอบแทนวิทยากร และค่าวัสดุที่เกี่ยวข้อง เป็นเงินทั้งสิ้น ๒๐,๐๐๐ บาท ทางคณะกรรมการกองทุนฯได้ให้ความเห็นในเรื่องการประสานงานกรณีพบผู้ป่วยทางสุขภาพจิตในที่สาธารณะว่าจะประสานงานหน่วยงานใดเป็นลำดับแรกหรือขั้นตอนที่ถูกต้อง รวมทั้งเรื่องอัตราค่าตอบแทนวิทยากร ให้เบิกจ่ายตามระเบียบที่กองทุนฯกำหนด
มติที่ประชุม : อนุมัติ  

ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องเพื่อติดตาม

เรื่องที่ ๑  : รายงานผลการดำเนินงานของอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ

๑.คณะทำงานจัดทำแผนฯ
                        : การประชุมของคณะทำงานจัดทำแผนกองทุนฯ ได้พิจารณาครบ ๓ ครั้งแล้ว โดยในปี ๒๕๕๖ มีเงินสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกัน ๑,๖๓๖,๒๔๐ บาท เทศบาลสมทบ ๘๑๙,๒๘๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒,๔๕๕,๕๒๐ บาท สามารถแบ่งสัดส่วนตามประเภทกิจกรรมดังนี้

ประเภทกิจกรรม
จำนวนโครงการ
งบประมาณ
คิดเป็นร้อยละ
สัดส่วนที่กำหนด
๑.การจัดบริการตามชุดสิทธิประโยชน์
๑๓
๖๑๑,๘๙๐
๒๔.๙๑
๒๕
๒.การสนับสนุนหน่วยบริการฯ
๒๐๔,๓๐๐
๘.๓๒
๒๕
๓.การสนับสนุนภาคประชาชนฯ
๒๙
๘๒๒,๐๔๘
๓๓.๔๗
๔๐
๔.การบริหารจัดการฯ
๑๗๐,๐๐๐
๖.๙๒
๑๐
รวม
๔๙
๑,๘๐๘,๒๓๘
๗๓.๖๒
๑๐๐

๒.อนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ
                                :ด้วยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้แจ้งเกี่ยวกับการประกวดการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖ ซึ่งจะมีหัวข้อการประกวดเหมือนที่ผ่านมา เช่น ด้านการบริหารจัดการ ด้านนวตกรรมกองทุนฯ เป็นต้น รายละเอียดทางคณะทำงานจัดทำแผนฯและอนุฝ่ายเลขานุการจะหารืออีกครั้งว่าเราจะส่งในประเภทใด
                ไซนัล : สืบเนื่องจากการได้เข้าร่วมการประชุมเรื่องปัญหาและแนวทางการปฏิบัติของกองทุนฯ เมื่อวันที่ ๓ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรม เอส ดี อเวนิว กรุงเทพฯ สามารถสรุปได้ดังนี้
                การประชุมจะแบ่งเป็น ๒ ส่วนหลักๆ คือ
                ๑.ส่วนของสำนักกฎหมาย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
                ๒.ส่วนของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
                ในส่วนของสำนักกฎหมาย ได้ชี้แจงถึงหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพตั้งแต่ระดับประเทศ จนถึงหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯระดับพื้นที่ การได้มาของคณะกรรมการโดยเฉพาะส่วนที่เป็นผู้แทนจากกลุ่มต่างๆ เช่น อสม.หรือผู้นำชุมชน ให้แต่ละกลุ่มคัดเลือกกันเอง ตัวแทนสมาชิกสภาเทศบาลต้องให้สภาเป็นผู้มอบหมาย ในเรื่องการสนับสนุนหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ให้ยึดตามหลักพระราชบัญญัติ และประกาศของ สปสช.ปี ๒๕๕๒ เป็นหลัก เช่น การสนับสนุนสถานบริการ นอกจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐแล้ว สถานบริการสาธารณสุขของเอกชนก็สามารถให้การสนับสนุนได้ แต่ต้องเป็นสถานบริการที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข และดำเนินกิจกรรมในบุคคล ๕ กลุ่มเท่านั้น คือ กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการและด้อยโอกาส กลุ่มผู้ประกอบอาชีพเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หน่วยงานที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือกองต่างๆไม่สามารถขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯได้
                ในส่วนของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้ชี้แจงว่าในการดำเนินงานให้เน้นการปฏิบัติตามหลักพระราชบัญญัติ ประกาศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพฯ(สปสช.) และระเบียบของกองทุนฯเป็นหลัก รวมถึงเจตนาของกองทุนฯที่อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมสุขภาพ ที่ผ่านมาได้ทำการตรวจสอบการปฏิบัติงานของกองทุนฯโซนภาคเหนือ พบหลายๆแห่งมีการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ การดำเนินงานซ้ำซ้อนกับงานปกติขิงหน่วยงาน เช่น โครงการแข่งกีฬา โครงการจัดงานวันเด็ก โครงการปรับปรุงอาคารสถานบริการ เป็นต้น รวมทั้งมีการเบิกงบประมาณตามกิจกรรมประเภทที่ ๔ เกิน ๑๐% ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามระเบียบกองทุนฯ ในกรณีมีการคืนเงิน นอกจากเจ้าของโครงการที่ต้องรับผิดชอบแล้ว คณะกรรมการบริหารผู้อนุมัติก็ถือว่ามีส่วนในการรับผิดชอบด้วย ในเรื่องการรับเงินการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ ผู้รับเงินต้องเป็นหน่วยบริการ และประธานองค์กรที่จัดทำโครงการ ส่วนเจ้าหน้าที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีสิทธิ์ (ยกเว้นศูนย์บริการสาธารณสุขซึ่งถือว่าเป็นหน่วยบริการฯ) โดยทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้มอบทิศทางการดำเนินงานของกองทุนฯดังนี้
                                ๑.ยึดหลักพระราชบัญญัติ และประกาศของ สปสช.หลักความมีประสิทธิภาพ (ให้เป็นไปตามระเบียบฯ)
                                ๒.มีการจัดการที่โปร่งใส
                                ๓.เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน
                                ๔.เป็นความต้องการของชุมชน
                                ๕.เป็นปัจจุบันและมีข้อมูลสุขภาพ     

๓.อนุกรรมการฝ่ายการเงิน
:แจ้งโครงการที่ยังไม่ส่งหลักฐานและสรุปผลการดำเนินงานให้อนุกรรมการการเงินฯ มี
ดังนี้
-โครงการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุฯ ชุมชนสันติสุข
-โครงการรณรงค์หยอดวัคซีนโปลิโอ ปี ๒๕๕๖ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก
-โครงการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ด่านควบคุมโรค
-โครงการส่งเสริมสุขภาพชาวชุมชน ชุมชนหัวกุญแจ
-โครงการรวมพล คน อสม.รักสุขภาพ ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข
-โครงการส่งเสริมสุขภาพด้วยกีฬาฟุตบอล ชมรมฟุตบอลเมืองสุไหงโก-ลก

๔.อนุกรรมการฝ่ายติดตามฯ
-ในรอบเดือนที่ผ่านมาไม่มีโครงการที่ดำเนินการ

ระเบียบวาระที่ ๖ : วาระอื่นๆ
ปลัด :    -โครงการส่งเสริมสุขภาพด้วยกีฬาว่ายน้ำ ได้หนังสือแจ้งขอเลื่อนการดำเนินงาน เป็นวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เนื่องจากห้วงเวลาเดิมติดช่วงศีลอด(ปอซอ)
ที่ประชุม : รับทราบ

                                                                                                                                ปิดการประชุม ๑๒.๐๐ น.
                   นายไซนัล  นิรมาณกุล
                                                                                                                                        ผู้บันทึกการประชุม