วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รายงานการประชุมกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙



รายงานการประชุมกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
ครั้งที่  ๑/๒๕๕๙   วันที่  ๒๐  พฤศจิกายน   ๒๕๕๘
  ห้องประชุมสภาเทศบาล  ชั้น ๓

เปิดประชุมเวลา  ๐๙.๓๐ น.
          เมื่อคณะกรรมการมาพร้อมกันแล้ว นางสุชาดา  พันธ์นรา ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฯได้กล่าวเปิดประชุมตามระเบียบวาระดังนี้
ระเบียบวาระที่ ๑ : ประธานแจ้งที่ประชุม  ไม่มีเรื่องแจ้ง
ระเบียบวาระที่ ๒ : รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่  ๘/๒๕๕๘   วันที่  ๒๖  สิงหาคม    ๒๕๕๘
มติที่ประชุม : รับรองรายงานประชุม
ระเบียบวาระที่ ๓ : เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
เรื่องที่ ๑   รายงานสถานะทางการเงินของกองทุน ฯ ประจำปีงบประมาณ  ๒๕๕๘  มีรายละเอียดดังนี้
                   ยอดยกมา ๖,๘๑๐,๐๙๔.๙๗ บาท
๑.๑ รายรับ
รับเงินค่าบริการสาธารณสุขที่ได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ        ๑,๘๖๕,๐๗๐     บาท
รับเงินอุดหนุนหรืองบประมาณที่ได้รับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น     ๑,๒๑๔,๗๔๗   บาท
รับเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร                                             ๔๐,๓๔๐.๑๙     บาท
รับเงินคืนจากการดำเนินแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม                             ๗๗,๕๑๑         บาท
          รวมรายรับ                            ๓,๑๙๗,๖๖๘.๑๙         บาท
๑.๒ รายจ่าย
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๑                        ๔๙๗,๗๕๕              บาท
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๒                          ๑,๓๐๙,๒๕๕       บาท
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๓                        ไม่มี
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๔                        ๔๑๖,๑๔๒                      บาท
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๕                        ไม่มี
รวมรายจ่ายทั้ง ๕  กิจกรรมเป็นเงิน                  ๒,๒๒๓,๑๕๒         บาท
          คงเหลือเงินกองทุนฯ      ๗,๗๘๔,๖๑๑.๑๖    บาท         
มติที่ประชุม : รับทราบ

 ระเบียบวาระที่ ๔ : เรื่องเพื่อพิจารณา
เรื่องที่ ๑ : การอนุมัติแผนการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ครั้งที่ ๑/๕๙ โดยอนุกรรมการฝ่ายจัดทำแผน
          อนุกรรมการฝ่ายจัดทำแผนได้ดำเนินการประชุมซักซ้อมแผนกองทุนประจำปี ๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ ณ โรงเรียนเทศบาล ๓ โดยมีกลุ่มเป้าหมายจากหน่วยงานราชการและกลุ่มภาคประชาชน โดยจัด ๒ รุ่น ภาคเช้า ภาคประชาชน   ภาคบ่าย ส่วนราชการ
          วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘  เวลา ๐๙.๓๐ – ๑๒.๓๐  น. อนุกรรมการฝ่ายแผน ฯ ได้มีการประชุมพิจารณาแผนงาน  โครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน ฯ  ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙  โดยมีโครงการที่ผ่านการพิจารณา ดังนี้
กิจกรรมประเภทที่ ๑    สนับสนุนหน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่มี ๒๓ โครงการ  เป็นเงิน  ๕๘๒,๐๐๐  บาท
กิจกรรมประเภทที่ ๒   สนับสนุนกลุ่มหรือ องค์กรประชาชนหรือหน่วยงานอื่นในพื้นที่ มี ๑๘ โครงการ  เป็นเงิน ๑,๕๗๕,๑๗๓   บาท
กิจกรรมประเภทที่ ๓   สนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสุขภาพฯให้ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ มี ๒ โครงการ  เป็นเงิน  ๒๖๔,๒๖๐   บาท
กิจกรรมประเภทที่ ๔  การบริหารจัดการกองทุนฯ จำนวน ๑ โครงการ  เป็นเงิน  ๒๗๕,๕๐๐  บาท
กิจกรรมประเภทที่ ๕ โรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ จำนวน ๑ โครงการ เป็นเงิน   ๓๒,๐๐๐   บาท
 รวมเป็นเงิน ทั้ง    กิจกรรม      เป็นเงิน  ๒,๗๒๘,๙๓๓  บาท 
มติที่ประชุม          อนุมัติแผน ครั้งที่ ๑ / ๒๕๕๙  จำนวน  ๔๕ โครงการ เป็นเงิน   ๒,๗๒๘,๙๓๓  บาท 

เรื่องที่ ๒ : การพิจารณาโครงการที่ขอสนับสนุนงบประมาณ จากหน่วยงาน/ภาคประชาชน     โครงการ
โครงการที่ ๑  โครงการ Run for king วิ่งเพื่อสุขภาพ
          โครงการนี้เป็นโครงการของชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพสุไหงโก-ลก จัดทำขึ้นและได้เล็งเห็นความสำคัญ การออกกำลังกายของผู้คนสมัยนี้ การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่มีประโยชน์มากมาย ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือด ปอด หัวใจ ทำงานดีขึ้น ลดระดับไขมันในเลือด เพื่อป้องกันโรคหัวใจ และช่วยให้ไม่เป็นลมหน้ามืด ทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ลดภาวะกระดูกพรุน ช่วยปรับภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานดีขึ้น ช่วยควบคุมน้ำหนักของร่างกาย กระตุ้นให้สมองเกิดการหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งเป็นสารเคมีธรรมชาติที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด และทำให้รู้สึกสุขสบาย ทั้งนี้ทางชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพสุไหงโก-ลกได้ตระหนักถึงความสำคัญในการออกกำลังกายด้วยการ เดิน วิ่ง การออกกำลังกายเป็นประจำ และการหมั่นตรวจเช็คร่างกายเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ เพราะการออกกำลังกายเป็นการเสริมสร้างและป้องกันโรคภัยต่างๆและเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคีของประชาชนในอำเภอสุไหงโก-ลก โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น เยาวชนและประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกที่มีความสนใจ จำนวน ๖๐๐ คน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนฯ ๔๒,๑๐๐ บาท  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม  ค่าเดินทาง ค่าที่พักและค่าตอบแทนวิทยากร  ค่าจัดทำไวนิล และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็นในโครงการ

คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่รูปแบบกิจกรรมไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน   การอบรมให้ความรู้คนกลุ่มใหญ่ ทำได้ค่อนข้างยาก ควรปรับรูปแบบการจัดอบรมให้เป็นไปได้ด้วย  ให้ทบทวนค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม และค่าใช้จ่าย อื่น ๆ โดยให้เป็นไปตามระเบียบการฝึกอบรมของมหาดไทยเป็นหลัก
มติที่ประชุม : อนุมัติในหลักการ  แต่ให้ ปรับ และ ทบทวน รายละเอียดงบประมาณตามข้อเสนอแนะ  

โครงการที่ ๒     โครงการเสริมสร้างสุขภาพเยาวชนและประชาชนโดยใช้กีฬาปันจักสีลัตเป็นสื่อ
โครงการนี้เป็นของชมรมปันจักสีลัต เป็นโครงการต่อยอดจากปีที่ผ่านมา การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความแข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา และสามารถแก้ปัญหาทางสังคมได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งกีฬาปันจักสีลัตก็เป็นอีกชนิดกีฬา ที่เยาวชนต้องการที่จะเรียนรู้ ฝึกฝน เพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ควรแก่การอนุรักษ์สืบสานไว้ ดังนั้นทางชุมชนจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย ของเยาวชนในพื้นที่ โดยใช้กีฬาปันจักสีลัตเป็นสื่อกลางในการสนับสนุนการออกกำลังกายของเยาวชนในพื้นที่ เพื่อห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บและยาเสพติดที่ระบาดมากขึ้นทุกวันในกลุ่มเยาวชนในปัจจุบัน เป็นการปลูกฝังให้เด็กเยาวชนรักการเล่นกีฬาและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน ๒๘๓,๔๖๘ บาท โดยแบ่งออกเป็น ๓ ช่วงกิจกรรม แยกตามกลุ่มเป้าหมาย  มีรายละเอียดดังนี้
ช่วงที่ ๑ กิจกรรมปันจักสีลัตเป็นสื่อ (ต่อยอด)  กลุ่มเป้าหมาย เป็นเยาวชนที่สนใจ   เริ่มในเดือนมกราคม ถึงเมษายน ๒๕๕๙ จัดกิจกรรม วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ -๑๗.๐๐ น. เป็นเวลา ๑๔ วัน ใช้งบประมาณทั้งหมด ๑๘๓,๒๑๘ บาท
ช่วงที่ ๒ กิจกรรม “ปันจักสีลัตบำบัด”  กลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้สูงอายุ  เริ่มเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๙ จัดกิจกรรมวันจันทร์ ถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐ ถึง ๑๘.๐๐ น. เป็นเวลา ๗ วัน ใช้งบประมาณ ๓๙,๖๕๐ บาท
ช่วงที่ ๓ กิจกรรม “พี่สอนน้องโดยใช้ปันจักสีลัตเป็นสื่อ” จัดกิจกรรม วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐ น.ถึง ๑๘.๐๐ น.เป็นเวลา ๑๔ วัน  ใช้งบประมาณ ๖๐,๖๐๐ บาท

คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า  เป็นโครงการที่ดี เป็นโครงการต่อเนื่อง และเยาวชนที่ผ่านการอบรม มีการฝึกอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ทุกวัน ส่งเสริมให้เยาวชนได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมใช้เวลาว่างให้เกิประโยชน์เห็นควรให้การสนับสนุน
 มติที่ประชุม : อนุมัติ
โครงการที่ ๓  โครงการรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ปีงบประมาณ ๒๕๕๙
          โครงการนี้เป็นโครงการของ คปสอ.ม.สุไหงโก-ลกร่วมกับชมรม อสม.เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เพื่อให้เด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี มีภูมิต้านทานต่อโรคโปลิโอสูงเพียงพอ ที่จะป้องกันการแพร่เชื้อโปลิโอชนิดก่อโรคจากภายนอกเข้ามาในประเทศ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสวัคซีนโปลิโอ อันเนื่องจากระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ โดยการให้วัคซีนโปลิโอเสริม ๒ ครั้ง แก่เด็กไทยอายุต่ำกว่า ๕ ปี ครอบคลุม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๙๐ ในพื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาการระบาดข้ามประเทศจากประเทศที่ยังมีโรคโปลิโอเป็นโรคประจำถิ่นไปยังประเทศที่ปลอดจากโรคแล้วเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประทศต้องหาทางป้องกัน ขณะเดียวกัน ยังพบปัญหาการได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วนในประชากรบางกลุ่ม บางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อต่อไปภายในประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกทั้งหมดและเด็กต่างชาติ อายุต่ำกว่า ๑๕ ปี กำหนดการรณรงค์ ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๖ ธันวาคม  ๒๕๕๘ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๐ มกราคม  ๒๕๕๙ จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ ๕๙,๒๕๐ บาท เพื่อเป็นค่าจ่ายค่าพาหนะ ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าจัดทำไวนิลประชาสัมพันธ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็นในโครงการนี้
 คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นโครงการต่อเนื่อง
 มติที่ประชุม : อนุมัติ  
โครงการที่      โครงการคัดกรองและส่งเสริมสุขภาพ ชาวชุมชน ประจำปี ๒๕๕๙
โครงการนี้เป็นโครงการของชมรม อสม.เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ที่ผ่านมาทาง อสม.หลายชุมชน ได้ทดลองดำเนินกิจกรรมคัดกรองสุขภาพ เดือนละ ๑ ครั้ง ผลตอบรับจากชาวชุมชนค่อนข้างดี ดังนั้นเพื่อความต่อเนื่อง ทางชมรม อสม.เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกร่วมกับ ๘ ชุมชน ที่มีความพร้อม จัดโครงการให้ต่อเนื่องและมีการพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป มีการเสริมกิจกรรม เช่น กิจกรรมออกกำลังกาย กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิต รวมถึงการให้ความรู้ให้สุขศึกษาเรื่องโรคต่างๆ โดยกิจกรรมที่จัด มุ่งเน้นให้ชาวชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเองกลุ่มเสี่ยงมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรัง  ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ติดบ้าน ติดเตียง ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ได้รับการดูแลที่บ้านอย่างต่อเนื่องจาก อสม.และเจ้าหน้าที่ และเพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตนเองและครอบครัว โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวชุมชนอายุ ๓๕ ปี ขึ้นไป ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังติดบ้าน ติดเตียง ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส  ของ ๘ ชุมน  จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน ๑๗๙,๑๗๕ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าวิทยากร ค่าจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ ค่าจัดซื้อเครื่องวัดความดันโลหิต และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็นในโครงการนี้  โดยมีรายละเอียดงบประมาณ แยกรายชุมชน ทั้ง ๘ ชุมชน
คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า เป็นโครงการที่ดี มีการจัดทำต่อเนื่องทุกๆปีและมีชุมชนใหม่ที่มีความพร้อมในการดำเนินงาน  ประชาชนดำเนินการคัดกรองสุขภาพโดยชุมชน เพื่อคนในชุมชน  ส่วนเครื่องวัดความดันควรจัดซื้อในงบบริหารกองทุนฯ และอยู่ในความดูแลของกองทุน ฯ โดยให้ทางภาคประชาชนยืมใช้
 มติที่ประชุม : อนุมัติ  
โครงการที่      โครงการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ปี ๒๕๕๙
เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกได้จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการหรือสถานบริการ เน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคการฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิ เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มแม่และเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ทั่วถึงมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่ จึงจัดให้การประชุมพิจารณาแผนงานโครงการซึ่งมาจากส่วนราชการ ภาคประชาชน มีการประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำแผนฯทุกๆ ๖ เดือน รวม ๒ ครั้ง/ปี ประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการ ๑๒ ครั้ง/ปี การประชุมของอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ รวมถึงการ ดังนั้นเพื่อให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นไปอย่างประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดทางอนุกรรมการฝ่ายเลขาธุรการจึงได้จัดโครงการดังกล่าวนี้ขึ้นมา จึงของบประมาณกองทุนฯ จำนวน ๒๗๒,๑๐๐ บาท โดยแบ่งเป็น ๘ กิจกรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
กิจกรรมที่๑ การใช้จ่ายในการจัดประชุมซักซ้อมแผนการจัดทำแผนงานโครงการ มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม จำนวน ๑๐๐ คน และค่าจัดทำเอกสาร ทั้งหมดเป็นเงิน ๓,๕๐๐ บาท
กิจกรรมที่ ๒  กิจกรรมประชุมพิจารณาแผนกองทุนฯ (อนุกรรมการฝ่ายแผนฯ)  มีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน ๑๑,๘๐๐ บาท
กิจกรรมที่ ๓  ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ(คณะกรรมการบริหารและอนุกรรมการทั้ง ๔ ฝ่าย) มีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน  ๑๗๒,๐๐๐ บาท
กิจกรรมที่ ๔ ประชุมอนุกรรมการฝ่ายการเงินฯการสรุปสถานะทางการเงิน รายงานการเงินรายเดือน รายไตรมาส และรายปี มีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน ๔,๘๐๐ บาท
กิจกรรมที่ ๕  การติดตามประเมินผล(อนุกรรมการฝ่ายประเมิน)  มีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท
กิจกรรมที่ ๖ ค่าจัดทำสรุปรายงานการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ กิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการ มีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท
กิจกรรมที่ ๗  ค่าจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆเพื่อใช้ในงานกองทุนฯ ได้แก่ กระดาษ แฟ้ม กล่องใส่เอกสาร หมึกพิมพ์ เป็นต้น มีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท
กิจกรรมที่ ๘ การจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อใช้ในงานกองทุนฯ มีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท

คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า  การจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต  ควรจัดซื้อเพิ่มในงานบริหารจัดการกองทุน ฯ
 มติที่ประชุม : อนุมัติ  ให้เพิ่มเติม  ค่าเครื่องวัดความดันโลหิต และให้อยู่ในความดูแลของกองทุนฯ
ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องเพื่อติดตาม
เรื่องที่ ๑  : รายงานผลการดำเนินงานของอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ
          ๑.คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำแผนฯ :  ในการประชุมแผนฯจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ จากเดิมประชุมแผนฯ ๓ ครั้ง/ปี ปรับเป็น ๒ ครั้ง/ปี  ในรอบแรกได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว  เมื่อ เดือนพฤศจิกายน  รอบสองจะมีการประชุมประมาณเดือนมีนาคม  
          ๒.คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขาและธุรการ : แนะนำสมาชิกใหม่ ๒ ท่านคือ สาธารณสุขอำเภอสุไหงโก-ลก      ตำแหน่งที่ปรึกษาของกองทุนฯ และผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม  ตำแหน่งประธานอนุกรรมการฝ่ายเลขาและธุรการ  และ ตำแหน่งอนุกรรมการฝ่ายแผน ฯ
๓.คณะอนุกรรมการฝ่ายการเงินและบัญชี   :   ไม่มีเรื่องแจ้ง
          ๔.คณะอนุกรรมการฝ่ายประเมินและติดตาม : ได้ออกติดตามประเมิน จำนวน ๑ โครงการ คือโครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุชุมชนหัวกุญแจ  
ระเบียบวาระที่  ๖ เรื่องอื่นๆ
๑.นำเสนอผลการดำเนินงานมหกรรมสุขภาพ ครั้งที่ ๑ ปี  ๒๕๕๘
๒.นำเสนอผลการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพฯปี ๒๕๕๘
ปิดการประชุม  ๑๑.๓๐ น.
                                      นางปะอีซะห์    มะฮามะรีเป็น     บันทึกและพิมพ์รายงานการประชุม
นางตันจุรีย์       ไชยลาภ          ตรวจทานและแก้ไข