วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

รายงานการประชุมกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ครั้งที่ ๓/๒๕๕๙

รายงานการประชุมกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
ครั้งที่ ๓/๒๕๕๙ วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๙
ณ ห้องประชุมสภาเทศบาล ชั้น ๓
เปิดประชุมเวลา ๑๐.๐๐ น.
เมื่อคณะกรรมการมาพร้อมกันแล้ว นายอภิเชษฐ เจ๊ะอูมา ประธานอนุกรรมการฝ่ายติดตามประเมินผล ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้กล่าวเปิดการประชุมและแจ้งว่า นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฯติดภารกิจ และได้มอบหมายให้กระผมทำหน้าที่ประธานการประชุมแทน จึงขอดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระดังนี้
ระเบียบวาระที่ ๑ : ประธานแจ้งที่ประชุม ไม่มีเรื่องแจ้ง
ระเบียบวาระที่ ๒ : รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ ๒/๒๕๕๙ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๘
มติที่ประชุม : รับรองรายงานประชุม
ระเบียบวาระที่ ๓ : เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
เรื่องที่ ๑ รายงานสถานะทางการเงินของกองทุนฯ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ มีรายละเอียดดังนี้
ยอดยกมา ๗,๘๓๑,๕๕๑.๓๖ บาท
๑ รายรับ
รับเงินคืนจากการดำเนินแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ๓,๙๐๖.๐๐ บาท
รวมรายรับ ๓,๙๐๖.๐๐ บาท
๒ รายจ่าย
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๑ ๖๕,๕๐๐ บาท
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๒ ๓๙๙,๖๑๕ บาท
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๓ ไม่มี
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๔ ๒๕,๐๐๐ บาท
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๕ ไม่มี
รวมรายจ่ายทั้ง ๔ กิจกรรม เป็นเงิน ๔๙๐,๑๑๕.๐๐ บาท
คงเหลือเงินกองทุนฯ ๗,๓๔๕,๓๔๒.๓๖ บาท
มติที่ประชุม : รับทราบ
ระเบียบวาระที่ ๔ : เรื่องเพื่อพิจารณา
เรื่องที่ ๑ : การพิจารณาโครงการที่ขอสนับสนุนงบประมาณ จากหน่วยงาน/ภาคประชาชน ๔ โครงการ
โครงการที่ ๑ โครงการส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียนการเฝ้าระวัง IQ และ EQ ในวัยเรียน
โครงการนี้เป็นโครงการของทางกลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก เพื่อให้ครูและผู้ดูแลเด็กมีความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง อีกทั้งมีทักษะในการคัดกรองความฉลาดทางอารมณ์และเชาว์ปัญญาเด็กเบื้องต้นได้ ในปี ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา จำนวนโรงเรียนที่ได้ดำเนินการคัดกรอง จำนวน ๕ โรง จำนวนห้องเรียนทั้งหมด ๑๙ ห้อง จำนวนนักเรียนที่ได้รับการคัดกรอง ๖๗๗ คน และจำนวนนักเรียนที่มีผิดปกติทั้งหมด ๕๗ คน ในการนี้เพื่อให้ทราบถึงระดับความฉลาดทางอารมณ์และเชาว์ปัญญาเด็ก และให้คำแนะนำ อีกทั้งเพื่อให้ครูและผู้ดูแลเด็กสามารถคัดกรอง ค้นพบเด็กที่มีปัญหา ทำให้สามารถช่วยเหลือแก้ไขได้อย่างทันเวลา ป้องกันการเกิดปัญหาระยะยาวในเด็ก จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ตัวแทนครู และผู้ดูแลเด็กในโรงเรียนเขตเทศบาล จำนวน ๘ แห่งๆละ ๒ คน และเขตรับผิดชอบในพืนที่การศึกษา๒ จำนวน ๑๗ แห่งๆละ ๒ คน เจ้าหน้าที่เขตการศึกษา ๒ จำนวน ๒ คน รวม ๕๕ คน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน ๑๕,๕๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าอาหารกลางวัน ค่าตอบแทนวิทยากร ค่าที่พักวิทยากร และค่าวัสดุต่างๆที่จำเป็นในโครงการนี้
คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี สามารถให้ครูและผู้ดูแลเด็กที่ผ่านการอบรมมีความรู้เบื้องต้นในการคัดกรอง ความฉลาดทางอารมณ์และเชาว์ปัญญาเด็ก ทำให้สามารถช่วยเหลือแก้ไขได้อย่างทันเวลา
มติที่ประชุม : อนุมัติ ควรปรับกลุ่มเป้าหมายให้เป็นคนในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก

โครงการที่ ๒ โครงการพัฒนาศักยภาพครอบครัว ในการดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเพศวิถีศึกษารอบด้าน
โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการของกลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก เพื่อพัฒนาศักยภาพครอบครัวให้มีความรู้ความเข้าใจและทักษะในเรื่องเพศศึกษา เพื่อให้ครอบครัวสามารถให้การดูแล ช่วยเหลือ และส่งต่อได้ถูกต้อง เพื่อป้องกันและส่งเสริมไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพื่อให้มีทักษะการสื่อสารและช่วยเหลือเด็กวัยรุ่น จากแนวโน้มสถานการณ์ในปัจจุบันที่พบในวัยรุ่น ทั้งปัญหาสุขภาพ ยาเสพติด พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น ครอบครัวที่มีบุตรหลานวัยรุ่นในชุมชน เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก นำร่อง จำนวน ๕ ชุมชนๆละ ๓๐ คน ทั้งหมด ๑๕๐ คน กลุ่มเป้าหมายคือผู้ปกครองและเด็กวัยรุ่น ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน ๔๔,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าอาหารกลางวัน ค่าตอบแทนวิทยากร และค่าวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในโครงการนี้
คณะ กรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี สามารถให้วัยรุ่นนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง ครอบครัวมีทักษะในการสื่อสารและดูแลช่วยเหลือเด็กวัยรุ่นที่ประสบปัญหาและ สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที โดยประสานข้อมูลมายังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
มติที่ประชุม : อนุมัติ


โครงการที่ ๓ โครงการพัฒนาแกนนำวัยทีน Teen และผู้ให้ความช่วยเหลือศูนย์เพื่อนใจวัย Teen
โครงการนี้เป็นโครงการของกลุ่มงานจิตเวชโรงพยาบาลสุไหงโก-ลกจัดขึ้นเพื่อ สร้างรูปแบบบริการที่ง่ายต่อการเข้าถึงของกลุ่มเป้าหมาย เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาเบื้องต้น หรือความต้องการช่วยเหลือที่ถูกต้อง เหมาะสม เพื่อพัฒนาการจัดระบบบริการที่สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินกลุ่มเป้าหมายให้ มีระบบการบริการที่เข้าถึงง่าย ทางโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จึงได้จัดตั้งศูนย์เพื่อนใจวัย Teen ซึ่งเป็นแนวทางและรูปแบบการจัดบริการรูปแบบหนึ่งที่เป็นจุดรับการเชื่อมต่อ ที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงได้ง่ายในรูปแบบต่างๆละส่งต่อระบบบริการที่ เหมาะสมแก่กลุ่มเป้าหมายต่อไป โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เป็นกลุ่มวัยเรียน วัยรุ่น ในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา แกนนำวัย Teen ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา๕ แห่ง คือ โรงเรียนสุไหงโก-ลก วิทยาลัยการอาชีพ เทศบาล๔ การศึกษานอกระบบ และโรงเรียนแสงธรรม แห่งละ ๑๐ คน รวมทั้งหมด ๖๐ คน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน ๒๐,๓๕๒ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าอาหารกลางวัน ค่าวิทยากร ค่าที่พักวิทยากร ค่าเดินทางวิทยากร ค่าวัสดุอื่นๆที่จำเป็น ในโครงการนี้
คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี สามารถให้แกนนำวัย Teen และผู้ให้ความช่วยเหลือมีความรู้ในการคัดกรอง ช่วยเหลือ ผู้ที่มีปัญหา เยาวชนมีศูนย์รวมในการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และมีแนวทางแก้ไขปัญหาในทางที่ ถูกต้องและให้เพิ่ม โรงเรียนเทศบาล๓ ในโครงการนี้ เพราะมีนร.มัธยม
มติที่ประชุม : อนุมัติ และให้ปรับแก้ตามข้อเสนอแนะ
โครงการที่ ๔ โครงการส่งเสริมสุขภาพแกนนำกลุ่มสตรีมุสลิมเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
โครงการนี้เป็นของชมรมแกนนำกลุ่มสตรีมุสลิมเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เนื่องจากรอบนี้ผู้นำเสนอโครงการติดภารกิจ ขอยกเลิกนำเสนอในเดือนนี้ และยกยอดไปเดือนต่อไป
ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องเพื่อติดตาม
เรื่องที่ ๑ : รายงานผลการดำเนินงานของอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ
๑.คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำแผนฯ : ไม่มีเรื่องแจ้ง
๒.คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขาและธุรการ:
เรื่องที่ ๑ การโอนงบประมาณ ปี ๒๕๕๙ ของเทศบาลเข้าสมทบในกองทุนสุขภาพ อยู่ในขั้นตอนตั้งฏีกาเบิก
เรื่อง ที่ ๒ แจ้งหนังสือตอบข้อหารือของสปสช. เกี่ยวกับการดำเนินงานกองทุนสุขภาพ (ที่มาจากจากหลายกองทุนฯ ) จำนวน ๗ เรื่อง เพื่อเป็นประโยชน์และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการกองทุน ร่วมกัน
๓.คณะอนุกรรมการฝ่ายการเงินและการบัญชี : ไม่มีเรื่องแจ้ง
๔.คณะอนุกรรมการฝ่ายประเมินและติดตาม : ได้ออกติดตามประเมินผล ๓โครงการ
๑.โครงการรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ปี ๕๙
๒.โครงการเสริมสร้างสุขภาพเยาวชนและประชาชนโดยใช้กีฬาปันจักสีลัตเป็นสื่อ
๓.โครงการคัดกรองและส่งเสริมสุขภาพ ชาวชุมชน ปี ๕๙

ระเบียบวาระที่ ๖ เรื่องอื่นๆ
เรื่องที่ ๑ เลขากองทุน : โครงการการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว LTC
๑. อยู่ในขั้นตอน เสนอขอเข้าร่วมโครงการ โดยจะขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่จะเข้าร่วมในโครงการนี้
มติที่ประชุม : เห็นชอบให้เทศบาลเข้าร่วมโครงการนี้
๒. การสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง โดยใช้เงื่อนไขการคัดเลือก ผู้สูงอายุ ติดบ้าน ติดเตียง เป็น ๔ กลุ่ม ตามที่ กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยส่งให้สปสช. เขต ๑๒ สงขลา ภายใน ๑๕ กพ. ๕๙ เพื่อจัดสรรงบประมาณให้อปท.. เป็นกองทุนที่แยกจากกองทุนสุขภาพของอปท.เดิม มีการดำเนินงานโดยผ่านทางคณะอนุกรรมการกองทุนดูแลผู้สูงอายที่มีภาวะพึ่งพิง ของอปท. โดยในปีนี้จังหวัดนราธิวาส มี ๑๔ แห่งและเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกเป็นพื้นที่นำร่องของอำเภอสุไหงโก-ลก
๓. การรับสมัครผู้ดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงและการจัดอบรม Care giver จำนวน ๗๐ ชั่วโมง เป็นบทบาทของหน่วยบริการคือโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก โดย สปสช.ได้โอนงบประมาณมาให้ดำเนินการแล้ว
เรื่องที่ ๒ รองนายก (อภิเชษฐ )
๑ . เชิญร่วมกิจกรรมลานคนเดินเที่ยวเพลินเมืองโก-ลก โดยจัดกิจกรรมบริเวณย่านการค้า จัดทุกวันศุกร์และเสาร์ สัปดาห์ที่ ๑แล ๓ ของเดือน
๒.เทศบาลสุไหงโก-ลก จัดงานตรุษจีน ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ บริเวณศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ
๓. ไข้เลือดออกระบาดในชุมชนเขตเทศบาล ขอความร่วมมือให้ อสม. ทุกชุมชน ช่วยกันดูแล และประชาสัมพันธ์ให้ชาวชุมชนทราบ
เรื่องที่ ๓ คุณบำรุง หนูอินทร์ (ตัวแทน สสอ. )
กิจกรรมหมู่บ้าน ชุมชนสะอาด ซึ่งเป็นนโยบายของจังหวัดนราธิวาส ให้ทุกพื้นที่มีการดำเนินงานเรื่องนี้ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชน บ้านเรือน สะอาด ลดการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ได้ โดยจะมีทีมกรรมการลงไปเยี่ยมในหมู่บ้าน ชุมชน ครัวเรือน และมีการประเมินบ้านของผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน อสม. ด้วยเพราะเป็นบุคคลที่ต้องเป็นแบบอย่างให้ชาวชุมชนต่อไป โดยขอความร่วมมือจากทุกชุมชน

ปิดการประชุม ๑๒.๐๐ น.
นางปะอีซะห์ มะฮามะรีเป็น บันทึกและพิมพ์รายงานการประชุม
นางตันจุรีย์ ไชยลาภ ตรวจทานและแก้ไข