ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา
เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการซ่อมรถยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการ
ในหลักฐานการรับเงิน
พ.ศ. ๒๕๔๖[๑]
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๕ เบญจ และมาตรา ๓๕ อัฏฐ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับมาตรา ๓ มาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินและลักษณะของหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้
“ธุรกิจการให้บริการซ่อมรถยนต์” หมายความว่า การประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ และหรือซ่อมตัวถังและอาจมีการให้บริการทำสี บำรุงรักษารถยนต์ รวมทั้งส่วนควบอื่นและอุปกรณ์ของรถยนต์ด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะให้บริการภายในหรือภายนอกสถานประกอบการ
“รถยนต์” หมายความว่า รถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์สาธารณะ และรถยนต์บริการตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
ข้อ ๒ ให้ธุรกิจการให้บริการซ่อมรถยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน
ข้อ ๓ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีหลักฐานการรับเงินตามข้อ ๔. และมอบให้แก่ผู้บริโภคในทันทีที่รับเงินหรือค่าตอบแทนการให้บริการซ่อมรถยนต์
ข้อ ๔ หลักฐานการรับเงินที่ผู้ประกอบธุรกิจออกให้แก่ผู้บริโภคตามข้อ ๓ ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และต้องใช้ข้อความที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจและของผู้มีอำนาจออกหลักฐานการรับเงิน
(๒) วัน เดือน ปี ที่ผู้บริโภคส่งมอบรถยนต์ให้ซ่อม และ วัน เดือน ปี ที่ผู้บริโภครับมอบรถยนต์เมื่อซ่อมเสร็จ
(๓) วัน เดือน ปี ที่รับเงินหรือค่าตอบแทนการให้บริการซ่อมรถยนต์
(๔) รายละเอียดเกี่ยวกับยี่ห้อ รุ่น หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถังและหมายเลขทะเบียนของรถยนต์ที่ทำการซ่อม
(๕) ระยะทางการใช้ของรถยนต์ในวันที่รับมอบเพื่อซ่อมและในวันที่ซ่อมเสร็จ
(๖) รายการที่ทำการซ่อม
(๗) ราคาค่าบริการซ่อมรถยนต์ (ค่าแรง)
(๘) กรณีที่มีการเปลี่ยนอะไหล่ต้องระบุ
(ก) รายการ ยี่ห้อ และสภาพของอะไหล่ที่เปลี่ยน
(ข) ราคาอะไหล่
(๙) ระยะเวลาหรือระยะทางสำหรับการรับประกันความชำรุดบกพร่องหรือคุณภาพงานซ่อม และหรือการรับประกันอะไหล่ที่เปลี่ยน
(๑๐) ลายมือชื่อของผู้มีอำนาจออกหลักฐานการรับเงินในเอกสารหลักฐานการรับเงินและหรือเอกสารแนบท้ายหลักฐานการรับเงินทั้งหมด
ข้อ ๕ หลักฐานการรับเงินตามข้อ ๔ ต้องไม่มีข้อความที่มีลักษณะหรือความหมายเป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิด ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการให้บริการซ่อม รถยนต์ของผู้ประกอบธุรกิจหรือของบุคคลอื่นซึ่งผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิด ด้วย
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖
ขวัญชัย สันตสว่าง
หมายเหตุเพิ่มเติม
เมื่อ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาได้กำหนดให้มีการประกาศควบคุมรายการในหลักฐานการรับ เงินของการประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการรายใดแล้ว หากปรากฏว่า
- ไม่ใช้ข้อความ ที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาประกาศกำหนด ให้ถือว่าหลักฐานการรับเงินดังกล่าว มีข้อความตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
- ใช้ข้อความ ที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาประกาศห้ามใช้ ให้ถือว่าหลักฐานการรับเงินดังกล่าว ไม่มีข้อความเช่นว่า นั้น
บทลงโทษ
ถ้า ผู้ประกอบการรายใดไม่ส่งมอบสัญญาหรือไม่ส่งมอบหลักฐานการรับเงินที่มีข้อ สัญญาหรือข้อความตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับเกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อมูลเพิ่มเติม
ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าหรือบริการ
ในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
ร้องเรียนที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
งานนิติการ กองวิชาการและแผนงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น