วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตู้เย็น

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก

ฉบับที่ ๓๒ (พ.ศ. ๒๕๒๙)

เรื่อง กำหนดตู้เย็นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

โดยที่ปรากฏว่า ขณะนี้มีการจำหน่ายตู้เย็นซึ่งเป็นสินค้าที่ประชาชนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ยังแสดงสาระสำคัญอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะไม่แจ้งชัด ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัยของผู้บริโภค สมควรกำหนดตู้เย็นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการว่าด้วยฉลากออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในประกาศนี้

ตู้เย็น หมายความว่า ตู้สำหรับแช่เย็นที่มีระบบทำความเย็นแบบคอมเพรสชัน

ข้อ ๒ ให้ตู้เย็นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

ข้อ ๓ ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับแก่ตู้เย็นที่ผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(๑) ตู้เย็นดังกล่าวต้องแสดงข้อความให้เห็นและอ่านได้ชัดเจนไว้ที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อเป็นภาษาไทยว่า สำหรับส่งออกเท่านั้น หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า “For Export Only”

(๒) ตู้เย็นดังกล่าว ต้องอยู่ในความครอบครองของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อการส่งออก หรือผู้ผลิต ผู้ขาย หรือผู้จัดหาสินค้านั้นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อการส่งออก

ข้อ ๔ ตู้เย็นที่จะนำออกขาย ต้องจัดให้มีฉลากรวมทั้งเอกสารหรือคู่มือตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗

ข้อ ๕ ฉลากต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน และข้อความในฉลากอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องแสดงข้อความเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจดังนี้

(ก) ในกรณีที่เป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร ให้ระบุชื่อผู้ผลิตและสถานที่ประกอบการของผู้ผลิต

(ข) ในกรณีที่เป็นสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ให้ระบุชื่อผู้นำเข้าและสถานที่ประกอบการผู้นำเข้า

(ค) ในกรณีที่เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นตามความต้องการหรือเพื่อการขายของผู้ประกอบ ธุรกิจรายอื่น หรือเป็นสินค้าที่นำเข้าเพื่อการขายของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ผู้ที่เกี่ยวข้องจะตกลงกันให้ระบุเฉพาะชื่อผู้ประกอบธุรกิจและสถานที่ประกอบ การของผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งรายใดแต่เพียงรายเดียวแทนก็ได้แต่ผู้ผลิตหรือ ผู้นำเข้าดังกล่าวจะต้องส่งสำเนาข้อตกลงดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้ม ครองผู้บริโภคทราบก่อนจะนำสินค้านั้นออกขาย

ถ้าผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบธุรกิจรายใดมีเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยแล้ว จะระบุเครื่องหมายการค้าแทนชื่อและสถานที่ประกอบการของตนก็ได้

(๒) ชื่อประเทศที่ผลิต

(๓) รุ่นที่ผลิตซึ่งจะใช้รหัสแทนก็ได้

(๔) ปริมาตรภายในเป็นลูกบาศก์เดซิเมตรและลูกบาศก์ฟุต

(๕) ชนิดและน้ำหนักของสารทำความเย็นที่ใช้

(๖) แรงดันไฟฟ้า ความถี่ และกระแสไฟฟ้า

(๗) วงจรไฟฟ้า

(๗) ทวิ[๑] เครื่องหมายแสดงระดับประสิทธิภาพตู้เย็น ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด (ถ้ามี)

(๘) คำเตือนเรื่องอย่าใช้ของมีคมแซะหรืองัดน้ำแข็งในช่องแช่แข็ง และเรื่องอย่าใช้น้ำราดตู้เย็น ซึ่งจะทำให้เกิดกระแสไฟรั่ว แล้วแต่กรณี

กรณีตาม (๖) และ (๗) จะใช้สัญลักษณ์แทนข้อความนั้นก็ได้

ข้อ ๖[๒] ฉลากตามข้อ ๕ (๑) ถึง (๗) จะปิดหรือติดไว้ที่ด้านในหรือด้านนอกของตู้เย็นก็ได้ สำหรับฉลากตามข้อ ๕ (๗) ทวิ ให้ปิดหรือติดไว้ที่ด้านนอกของตู้เย็น และฉลากตามข้อ ๕ (๘) ว่าด้วยคำเตือนให้ปิดหรือติดไว้ที่ด้านในของตู้เย็น

ข้อ ๗ เอกสารหรือคู่มือสำหรับตู้เย็น ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ตามความเหมาะสม และอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

(๑) วิธีติดตั้ง

(๒) วิธีใช้และข้อควรระวังในการใช้

(๓) วิธีใช้อุปกรณ์ควบคุมต่าง ๆ

(๔) การบำรุงรักษา และการทำความสะอาดตู้เย็น

(๕) ข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย

ข้อ ๘ ให้ตู้เย็นที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีฉลากขณะนำเข้าที่ด่านศุลกากร แต่ต้องจัดให้มีฉลากตามประกาศนี้ก่อนที่จะนำออกขาย

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาแนต้นไป[๓]

ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๙

มาลดี วสีนนท์

ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก


ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๗๔ (พ.ศ. ๒๕๔๐) เรื่อง กำหนดตู้เย็นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ ๒) [๔]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น