ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก
ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๑)
เรื่อง กำหนดเครื่องตัดวงจรไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
โดยที่ปรากฏว่า ขณะนี้มีการจำหน่ายเครื่องตัดวงจรไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าที่ประชาชนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ยังแสดงสาระสำคัญอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะไม่แจ้งชัด ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัยของผู้บริโภค สมควรกำหนดเครื่องตัดวงจรไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการว่าด้วยฉลากออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “เครื่องตัดวงจรไฟฟ้า” หมายความว่า เครื่องตัดวงจรไฟฟ้าอัตโนมัติที่สามารถตัดวงจรเมื่อกระแสไฟฟ้าเกิน หรือกระแสไฟฟ้าลัดวงจร หรือกระแสไฟฟ้ารั่วลงดิน
ข้อ ๒ ให้เครื่องตัดวงจรไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
ข้อ ๓ ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับแก่เครื่องตัดวงจรไฟฟ้า ดังต่อไปนี้
(๑) เครื่องตัดวงจรไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้งานที่แรงดันไฟฟ้าเกิน ๗๕๐ โวลต์
(๒) เครื่องตัดวงจรไฟฟ้าที่ผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(ก) เครื่องตัดวงจรไฟฟ้าดังกล่าวต้องแสดงข้อความให้เห็นและอ่านได้ชัดเจนไว้ที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุเป็นภาษาไทยว่า “สำหรับส่งออกเท่านั้น” หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า “For Export Only”
(ข) เครื่องตัดวงจรไฟฟ้าดังกล่าวต้องอยู่ในความครอบครองของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อการส่งออก หรือผู้ผลิต ผู้ขาย หรือผู้จัดหาสินค้านั้นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อการส่งออก
(๓) ฟิวส์
ข้อ ๔ เครื่องตัดวงจรไฟฟ้าที่จะนำออกขาย ต้องจัดให้มีฉลากรวมทั้งเอกสารหรือคู่มือตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗
ข้อ ๕ ฉลากต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน และข้อความในฉลากอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องแสดงข้อความเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจดังนี้
(ก) ในกรณีที่เป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรให้ระบุชื่อผู้ผลิตและสถานที่ประกอบการของผู้ผลิต
(ข) ในกรณีที่เป็นสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายให้ระบุชื่อผู้นำเข้าและสถานที่ประกอบการของผู้นำเข้า
(ค) ในกรณีที่เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นตามความต้องการหรือเพื่อการขายของผู้ประกอบ ธุรกิจรายอื่น หรือเป็นสินค้าที่นำเข้าเพื่อการขายของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ผู้ที่เกี่ยวข้องจะตกลงกันให้ระบุเฉพาะชื่อผู้ประกอบธุรกิจและสถานที่ประกอบ การของผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งรายใดแต่เพียงรายเดียวแทนก็ได้ แต่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้านั้นจะต้องส่งสำเนาข้อตกลงดังกล่าวให้สำนักงานคณะ กรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทราบก่อนจะนำสินค้านั้นออกขาย
ถ้าผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใดมีเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยแล้ว จะระบุเครื่องหมายการค้าแทนชื่อและสถานที่ประกอบการของตน ก็ได้
(๒) ชื่อประเทศที่ผลิต
(๓) แบบหรือรุ่น (model)
(๔) หมายเลขลำดับ (serial number)
(๔ ทวิ)[๑] ประเภทของเครื่องตัดวงจรไฟฟ้า โดยให้ระบุดังนี้
(ก) ในกรณีที่เครื่องตัดวงจรไฟฟ้าสามารถตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่วลงดินตั้งแต่ ๕ มิลลิแอมแปร์ ลงมา ให้ระบุเป็น “ประเภทป้องกันบุคคล”
(ข) ในกรณีที่เครื่องตัดวงจรไฟฟ้าสามารถตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่วลงดินเกิน ๕ มิลลิแอมแปร์ ให้ระบุเป็น “ประเภทป้องกันอุปกรณ์”
(ค) ในกรณีที่เครื่องตัดวงจรไฟฟ้าสามารถตัดวงจรไฟฟ้าได้เมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่วลงดินตั้งแต่ ๕ มิลลิแอมแปร์ลงมาและเกิน ๕ มิลลิแอมแปร์ อยู่ในเครื่องเดียวกัน ให้ระบุเป็น “ประเภทป้องกันบุคคลและอุปกรณ์”
(๕) แรงดันไฟฟ้าที่กำหนด โดยระบุหน่วยเป็นโวลต์
(๖) จำนวนเฟส (phase) หรือจำนวนขั้ว (pole)
(๗) กระแสไฟฟ้าที่กำหนด โดยระบุหน่วยเป็นแอมแปร์
(๘) ความทนต่อกระแสไฟฟ้าฉับพลัน (interrupting capacity หรือ breaking capacity) โดยระบุหน่วยเป็นกิโลแอมแปร์ ที่แรงดันไฟฟ้ากระแสสลับ.....โวลต์
(๙) ความถี่ที่กำหนด โดยระบุหน่วยเป็นเฮิรตซ์
(๑๐) ค่ากระแสไฟฟ้าเกิน โดยระบุหน่วยเป็นแอมแปร์ หรือค่ากระแสไฟฟ้ารั่วลงดินที่เครื่องจะตัดวงจรไฟฟ้า โดยระบุหน่วยเป็นมิลลิแอมแปร์
(๑๑) ความไวในการตัดวงจรไฟฟ้า ที่อุณหภูมิทดสอบ ๒๗๒ องศาเซลเซียส โดยระบุหน่วยเป็นวินาที
(๑๒) ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน
(๑๓) คำเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะแสดงรูปภาพแทนก็ได้
(๑๔) ตำแหน่ง เปิด หรือ ปิด
กรณีตาม (๕) ถึง (๑๐) จะใช้สัญลักษณ์แทนข้อความนั้น ก็ได้
ข้อความตาม (๑๐) และ (๑๑) นั้น จะระบุไว้รวมกันเป็นแผนภาพแสดงความสัมพันธ์แทน ก็ได้
ข้อ ๖[๒] ฉลากตามข้อ ๕ (๔ ทวิ) (๕) (๖) (๗) (๘) (๑๐) (๑๑) และ (๑๔) ให้ปิดหรือติดไว้ที่เครื่องตัดวงจรไฟฟ้า ส่วนฉลากตามข้อ ๕ (๑) (๒) (๓) (๔) (๙) (๑๒) และ (๑๓) จะปิดหรือติดไว้ที่ภาชนะบรรจุก็ได้
ข้อ ๗ เอกสารหรือคู่มือสำหรับเครื่องตัดวงจรไฟฟ้า ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถอ่านได้ตามความเหมาะสม และอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
(๑) วิธีใช้และข้อควรระวังในการใช้
(๒) วิธีติดตั้งและการบำรุงรักษา
(๓) วิธีปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย
ข้อ ๘ ให้เครื่องตัดวงจรไฟฟ้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีฉลากตามประกาศนี้ขณะนำเข้าที่ด่านศุลกากร แต่ต้องจัดให้มีฉลากดังกล่าวก่อนที่จะนำออกขาย
ประกาศนี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[๓]
ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๑
ประดิษฐ์ เชี่ยวสกุล
ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น