วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกาย

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา

เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา

พ.ศ. ๒๕๕๔[๑]

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๕ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับมาตรา ๓ มาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา

ข้อ ๒ ในประกาศนี้ ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายหมายความว่า ธุรกิจให้บริการใช้สถานที่ และอุปกรณ์ออกกำลังกายเพื่อประโยชน์ในทางการค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจทำสัญญาให้บริการออกกำลังกายกับผู้บริโภคให้เป็นสมาชิก แต่ไม่หมายความรวมถึงธุรกิจให้บริการเฉพาะโยคะ ศิลปะการป้องกันตัว และกีฬา

ข้อ ๓ สัญญาการให้บริการออกกำลังกายที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร โดยมีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และจะต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(๑) รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดพื้นที่ของสถานที่ให้บริการออกกำลังกาย จำนวนประเภทและจำนวนอุปกรณ์ออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และการให้บริการอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคมีสิทธิพึงได้รับตามสัญญา

(๒) รายละเอียดอัตราค่าสมาชิก และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากสมาชิก เช่น ค่าใช้บริการออกกำลังกาย ค่าฝึกสอน ค่าธรรมเนียม เป็นต้น เงื่อนไขและวิธีการชำระเงิน วันเริ่มต้นและสิ้นสุดการเป็นสมาชิก

(๓) การผิดสัญญาเรื่องใดของผู้บริโภคที่ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเลิกสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุเหตุในเรื่องนั้น ๆ ไว้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรสีแดงหรือตัวดำหรือตัวเอนที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป และก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่การผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญดังนี้

(ก) กระทำการอันเป็นความผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนา

(ข) มีพฤติกรรมรบกวนการใช้บริการของสมาชิกอื่น

(ค) เป็นโรคติดต่อร้ายแรง

(๔) สิทธิเลิกสัญญาของผู้บริโภคมีดังนี้

(ก) ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีประเภทอุปกรณ์ออกกำลังกาย หรือบริการอื่น ๆ ตาม (๑) หรือประเภทอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดบกพร่องหรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอ เมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการนั้น ๆ ที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาทดแทนได้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับแจ้ง

(ข) มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไปอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ

(ค) ได้รับการบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจไม่มีความรู้ความชำนาญหรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่าชำรุดบกพร่อง

(๕) การคืนเงินสด หรือเช็ค หรือนำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ของผู้บริโภคเป็นจำนวนเงินตามที่เหลือจากค่าสมาชิก และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตาม (๒) และจากระยะเวลาที่ยังไม่ได้ใช้บริการออกกำลังกาย ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลิกสัญญา

ในกรณีที่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา ไม่ตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะเรียกเบี้ยปรับในอัตราเดียวกันกับอัตราเบี้ยปรับ ที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระในกรณีผิดนัดชำระตามสัญญา

(๖) ในกรณีที่ผู้บริโภคชำระค่าสมาชิกและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วยบัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องแจ้งระงับการเรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิตทันทีเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง

(๗) คำบอกกล่าวตามกฎหมาย หรือตามสัญญา ต้องส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้แก่ผู้บริโภคตามที่อยู่ที่ระบุไว้ใน สัญญาหรือที่อยู่ที่ผู้บริโภคได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ครั้งหลังสุด

(๘) สิทธิของผู้บริโภคในการโอนสิทธิตามสัญญาให้บุคคลที่สามซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกได้เมื่อได้มีการบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบธุรกิจ

(๙) สิทธิของผู้บริโภคในการต่อระยะเวลาการใช้บริการออกกำลังกายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โดยผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าสมาชิก และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากสมาชิก เช่น ค่าใช้บริการออกกำลังกาย ค่าฝึกสอน ค่าธรรมเนียม เป็นต้นเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

ข้อ ๔ ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีความหมายทำนองเดียวกัน ดังต่อไปนี้

(๑) ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องผูกพันตามประกาศหรือหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบธุรกิจ เว้นแต่ประกาศหรือหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม

(๒) ข้อสัญญาที่เป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญาหรือละเมิดของผู้ประกอบธุรกิจ หรือจากการบาดเจ็บ เจ็บป่วย จากการใช้บริการออกกำลังกาย รวมทั้งทรัพย์สินสูญหายภายในสถานที่ประกอบธุรกิจ

(๓) ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจเลิกสัญญากับผู้บริโภคโดยไม่ต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร หรือโดยผู้บริโภคมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการให้บริการออกกำลังกาย อัตราสมาชิก ค่าใช้บริการ และค่าธรรมเนียม หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ตามสัญญาอื่น ๆ ได้เพียง ฝ่ายเดียว

(๔) ข้อสัญญาที่กำหนดระยะเวลาตามสัญญาเกินหนึ่งปี

(๕) ข้อสัญญาที่กำหนดให้การต่อระยะเวลาการให้บริการออกกำลังกายมีผลบังคับทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา

ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔

สำเรียง เมฆเกรียงไกร

ประธานกรรมการว่าด้วยสัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น