ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก
ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๕๐)
เรื่อง ให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
โดยที่ในปัจจุบันได้มีการนำรถยนต์ใช้แล้วที่ประชาชนโดยทั่วไปใช้เป็นประจำมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก และกรณีปรากฏว่าผู้บริโภคไม่อาจทราบข้อเท็จจริงในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อ หรือแลกเปลี่ยนโดยเข้าใจผิดในสาระสำคัญดังนั้น การกำหนดฉลากของสินค้ารถยนต์ใช้แล้วจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อหรือแลกเปลี่ยนสินค้าดังกล่าว จึงสมควรกำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ วรรคสาม และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ คณะกรรมการว่าด้วยฉลากจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้
“รถยนต์ใช้แล้ว” หมายความว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้ว ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจมีไว้เพื่อจำหน่าย
ข้อ ๒ ให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
ข้อ ๓ ฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลากตามข้อ ๒ ให้ปฏิบัติตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ แห่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ และให้ระบุข้อมูลด้วยตัวอักษรขนาดไม่ต่ำกว่า ๑ เซนติเมตร เกี่ยวกับรถยนต์ใช้แล้ว ตามที่ปรากฏในรายการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ตั้งแต่วันจดทะเบียนจนถึงวันที่จำหน่าย ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) วันจดทะเบียน
(๒) เลขทะเบียน
(๓) เลขตัวรถ
(๔) เลขเครื่องยนต์
(๕) ยี่ห้อรถ
(๖) ยี่ห้อเครื่องยนต์
(๗) สี
(๘) ประเภทของรถ
(๙) ชนิดเชื้อเพลิง
(๑๐) ลำดับเจ้าของรถ
(๑๑) ภาระผูกพันของรถยนต์ที่มีอยู่ในวันจำหน่าย (ถ้ามี)
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[๑]
ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐
รัศมี วิศทเวทย์
ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น