ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก
ฉบับที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๔๙)
เรื่อง ให้รถจักรยานยนต์เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
โดยที่ปรากฏว่าในปัจจุบันได้มีผู้บริโภคประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและร่างกาย ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ จึงกำหนดให้รถจักรยานยนต์เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “รถจักรยานยนต์” หมายความว่า รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และมีล้อไม่เกินสองล้อ ถ้ามีพ่วงข้างมีล้อเพิ่มอีกไม่เกินหนึ่งล้อ
ข้อ ๒ ให้รถจักรยานยนต์เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
ข้อ ๓ ฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลากตามข้อ ๒ ให้ปฏิบัติตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ แห่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ และให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ ไว้ในฉลากด้วย
คำเตือน ต้องระบุว่า “อาจถึงตายหรือพิการ หากไม่สวมหมวกนิรภัย”
ข้อความที่เป็น คำเตือน “ต้องใช้ตัวอักษรขนาดไม่ต่ำกว่า ๕ มิลลิเมตร โดยใช้สีตัดกับสีพื้น สำหรับแสดงไว้ที่คู่มือการใช้งานรถจักรยานยนต์ และแสดงไว้ในลักษณะคงทนถาวรที่บริเวณถังน้ำมันหรือบริเวณอื่นของรถจักรยานยนต์ ที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์สามารถเห็นและอ่านได้อย่างชัดเจน”
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[๑]
ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
รัศมี วิศทเวทย์
ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น