ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก
ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก[๑]
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิก
(๑) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๒๖) เรื่อง กำหนดภาชนะพลาสติกเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ลงวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๖
(๒) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๔๑ (พ.ศ. ๒๕๓๑) เรื่อง กำหนดภาชนะพลาสติกเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑
(๓) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๔๘ (พ.ศ. ๒๕๓๓) เรื่อง กำหนดภาชนะพลาสติกเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ ๓) ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๓
ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “ผลิตภัณฑ์พลาสติก” หมายความว่า ภาชนะหรือสิ่งบรรจุสิ่งของหรือเครื่องใช้ที่ทำขึ้นจากพลาสติก หรือฟิล์มพลาสติกหรือฟิล์มหดด้วยความร้อนหรือฟิล์มไนลอนหรือไนลอนเรซิน ที่ทำขึ้นเพื่อใช้สำหรับอาหาร หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำขึ้นจากพลาสติกหรือฟิล์มดังกล่าว เพื่อใช้เป็นสิ่งบรรจุหรือเป็นภาชนะหรือเป็นเครื่องใช้ เช่น ถุงร้อน PP. ถุงเย็น PE.ถุงหูหิ้ว HD. ถุงจีบชนิดใสพิเศษ IPP. ถุงแก้ว OPP. ถุงใส่น้ำมะพร้าว ถุงใส่เครื่องดื่มน้ำผลไม้ น้ำนม ถุงใส่เสื้อผ้า เป็นต้น
ข้อ ๓ ให้ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
ข้อ ๔ ฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลากตามข้อ ๓ ให้ปฏิบัติตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ แห่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ และให้ระบุข้อความในข้อ ๕ และข้อ ๖ ไว้ในฉลากที่กำกับผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือที่ภาชนะหรือที่สิ่งบรรจุหรือเครื่องใช้ที่ทำขึ้นจากพลาสติกหรือฟิล์มตามที่ระบุไว้ในข้อ ๒ แล้วแต่กรณี
ข้อ ๕ ในข้อกำหนดเกี่ยวกับ “วิธีใช้” ในฉลากนั้น ให้ระบุว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้เพื่อสิ่งใด ถ้าเป็นภาชนะหรือสิ่งบรรจุ หรือเครื่องใช้ให้ระบุข้อความที่เป็น “คำเตือน” ไว้ด้วย
ข้อ ๖ ในข้อกำหนดเกี่ยวกับ “คำเตือน” ในฉลากนั้นให้มีข้อความว่า
(๑) “ห้ามใช้บรรจุหรือห่อหุ้มอาหาร” สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทำขึ้นเพื่อไม่ต้องการให้ใช้กับอาหาร
(๒) “ใช้บรรจุอาหารหรือห่อหุ้มอาหาร หรือใช้บรรจุเครื่องดื่มใช้เพียงครั้งเดียว” หรือ “ไม่ควรใช้บรรจุอาหารที่กำลังร้อนจัดโดยเฉพาะอาหารทอดด้วยน้ำมัน” หรือ “ปลอดภัยใช้กับอาหาร” หรือ “ปลอดภัยใช้กับเครื่องดื่ม” แล้วแต่กรณี
(๓) “ห้ามใช้บรรจุของร้อน” สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่ทนความร้อนสูงกว่า ๙๕ องศาเซลเซียส
(๔) “รับน้ำหนักได้ไม่เกิน ............ กิโลกรัม หรือ กก.” สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้เพื่อรองรับน้ำหนัก เช่น โต๊ะ เก้าอี้ บันได
(๕) “มีส่วนผสมจากวัสดุที่ใช้แล้ว” สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทำจากพลาสติกที่ใช้ทำสิ่งของอื่นมาแล้วหลอมผลิตเป็นสินค้าใหม่
ข้อความที่เป็น “คำเตือน” ต้องใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
มาลดี วสีนนท์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น