พระราชกฤษฎีกา
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจ
ที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา
พ.ศ. ๒๕๔๒
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒
เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดย ที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธี การเพื่อให้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญากำหนดให้การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้ บริการเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา และกำหนดลักษณะของสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค
อาศัย อำนาจตามความในมาตรา ๒๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓๕ ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๒”
มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ คณะ กรรมการว่าด้วยสัญญาจะกำหนดให้การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการใดเป็น ธุรกิจที่ควบคุมสัญญา การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการนั้นจะต้องเข้าลักษณะหนึ่งลักษณะใด ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นธุรกิจที่มีการใช้ข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
(๒) เป็นธุรกิจที่มีการใช้สัญญาสำเร็จรูปอย่างแพร่หลาย
(๓) เป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้บริโภค ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ความเข้าใจ และความสันทัดจัดเจน
มาตรา ๔ การกำหนดลักษณะของสัญญาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ผู้บริโภคทราบสิทธิและหน้าที่ของตนตลอดจนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการโดยชัดเจนตามควรแก่กรณี
(๒) ไม่เป็นการจำกัดหรือยกเว้นความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจในส่วนที่เป็นสาระสำคัญโดยไม่มีเหตุผลที่สมควรเพียงพอ
(๓) ต้องคำนึงถึงความสุจริตในการประกอบธุรกิจ
(๔) ให้เยียวยาความเสียหายในเวลาอันสมควรในกรณีที่มีการฝ่าฝืนสัญญา
(๕) จัดให้มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแสดงเจตนาของผู้ประกอบธุรกิจในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค
(๖) ต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระเกินควรแก่การประกอบธุรกิจ
มาตรา ๕ ก่อน ออกประกาศกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญาให้คณะกรรมการว่าด้วย สัญญารับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบโดย ตรง โดยคำนึงถึงขอบเขตและสภาพปัญหา เช่น การจัดสัมมนา การประชุม หรือให้ประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็น ในการนี้จะรับฟังความเห็นจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยก็ได้
มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
หมาย เหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๓๕ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดให้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญามีอำนาจกำหนดให้การประกอบธุรกิจขายสินค้า หรือให้บริการใดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา และมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของสัญญา โดยการกำหนดของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และ วิธีการที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
อธิบายเพิ่มเติม
การควบคุมสัญญา
เมื่อคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาได้กำหนดให้มีประกาศควบคุมสัญญาของการประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือบริการใดแล้ว หากปรากฏว่า
- ไม่ใช้สัญญาหรือข้อความที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาประกาศกำหนด ให้ถือว่าสัญญาดังกล่าว มีข้อสัญญาหรือข้อความ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
- ใช้สัญญาหรือข้อความ ที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาประกาศห้ามใช้ ให้ถือว่าสัญญาดังกล่าว ไม่มีสัญญาหรือข้อความเช่นว่านั้น
เมื่อ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาได้กำหนดให้มีการประกาศควบคุมรายการในหลักฐานการรับ เงินของการประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการรายใดแล้ว หากปรากฏว่า
- ไม่ใช้ข้อความ ที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาประกาศกำหนด ให้ถือว่าหลักฐานการรับเงินดังกล่าว มีข้อความตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
- ใช้ข้อความ ที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาประกาศห้ามใช้ ให้ถือว่าหลักฐานการรับเงินดังกล่าว ไม่มีข้อความเช่นว่า นั้น
บทลงโทษ
ถ้า ผู้ประกอบการรายใดไม่ส่งมอบสัญญาหรือไม่ส่งมอบหลักฐานการรับเงินที่มีข้อ สัญญาหรือข้อความตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับเกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าหรือบริการ ในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
ร้องเรียนที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
งานนิติการ กองวิชาการและแผนงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น