วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรม

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก

ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ. ๒๕๕๐)

เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก[๑]

โดย ที่ปรากฏว่าในปัจจุบันได้มีการนำสินค้าหลายชนิดมาบรรจุหรือห่อหุ้มรวมกัน เป็นสินค้าชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรมเพื่อขายให้นำไปถวายแด่นักบวชในพระพุทธ ศาสนา ซึ่งสินค้าบางชนิดที่นำมารวมนั้น มีกำหนดอายุหรือเวลาที่ควรใช้โดยผู้ซื้อไม่อาจทราบได้ และสินค้าดังกล่าวอาจทำปฏิกิริยากัน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสี กลิ่น หรือรส จนอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเนื่องในการใช้ หรือโดยสภาพได้ ดังนั้น การกำหนดฉลากของสินค้าชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรมจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค ในการที่จะทราบข้อเท็จจริงในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า ลักษณะ ข้อความ และข้อความที่จำเป็นของฉลากสินค้านั้น จึงสมควรกำหนดให้ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในประกาศนี้ ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรม หมายความว่า สินค้าที่นำมารวมเป็นชุด ไม่ว่าด้วยวิธีการใด เพื่อขายให้นำไปถวายแด่นักบวชในพระพุทธศาสนา

ข้อ ๒ ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

ข้อ ๓ ให้ติดตั้งหรือแสดงฉลากของสินค้าที่ควบคุมตามข้อ ๒ ซึ่งต้องเป็นข้อความภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้อย่างชัดเจน ตามตัวอย่างท้ายประกาศนี้ไว้ที่ภาชนะบรรจุหรือสิ่งที่นำมาห่อหุ้ม โดยให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) คำว่า ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรม

(๒) รายการสินค้าที่ระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และราคาของสินค้า แต่ละรายการ

(๓) ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรม

(๔) วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน ของสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่นำมารวมนั้นระบุว่าเร็วที่สุด

(๕) วันเดือนปีที่บรรจุ

(๖) ราคารวมชุดจัดบรรจุที่ระบุหน่วยเป็นบาท

ข้อ ๔ ชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรมใดที่มีการนำสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันจนทำให้มี สี กลิ่น หรือรส เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเนื่องในการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ให้ระบุคำเตือนในฉลากตามข้อ ๓ ด้วย เช่น ใบชา ข้าวสาร สบู่ และผงซักฟอก อาจทำปฏิกิริยากัน จนทำให้มีสี กลิ่น หรือรส เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค เนื่องในการใช้ หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรแยกสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันได้นั้นออกจากกันโดยเร็ว

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐

รัศมี วิศทเวทย์

ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น