ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก
ฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๔๙)
เรื่อง ให้เครื่องทำน้ำเย็นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
โดยที่ปรากฏว่าในปัจจุบันได้มีการใช้สินค้าเครื่องทำน้ำเย็นในสถานที่ต่าง ๆ อย่างแพร่หลายและมีผู้บริโภคได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตจากการใช้สินค้าดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้า จึงกำหนดให้เครื่องทำน้ำเย็นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “เครื่องทำน้ำเย็น” หมายความว่า บริภัณฑ์ไฟฟ้าที่ทำให้น้ำเพื่อการบริโภคซึ่งไหลผ่านระบบการทำงานภายในบริภัณฑ์ดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้นหรือต่ำลง
ข้อ ๒ ให้เครื่องทำน้ำเย็นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
ข้อ ๓ ฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลากตามข้อ ๒ ให้ปฏิบัติตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ แห่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ และให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้
(๑) ข้อแนะนำในการใช้ ต้องระบุดังต่อไปนี้
(ก) “ต้องติดตั้งสายดินให้ถูกวิธีพร้อมติดตั้งเครื่องทำน้ำเย็น”
(ข) “ต้องติดตั้งเครื่องป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ารั่ว”
(ค) “ต้องติดตั้งเครื่องทำน้ำเย็นในบริเวณที่เป็นฉนวนไฟฟ้าและไม่เปียกชื้น เช่น ปูพื้นด้วยผ้ายาง ฯลฯ และไม่ควรให้มีน้ำชื้นแฉะ”
(ง) “ควรตรวจสอบสภาพความปลอดภัยของเครื่องทำน้ำเย็นโดยช่างผู้ชำนาญงานเป็นประจำ อย่างน้อยทุก ๖ เดือน”
(๒)[๑] คำเตือน ต้องระบุว่า
(ก) “อันตรายถึงชีวิต ถ้าไม่ติดตั้งสายดินให้ถูกวิธี”
(ข) “ห้ามใช้ตะกั่วบัดกรีในการซ่อมโดยเด็ดขาด”
ข้อความที่เป็น คำเตือน “ต้องใช้ตัวอักษรสีแดงขนาดไม่ต่ำกว่า ๕ มิลลิเมตร และแสดงไว้บริเวณก๊อกน้ำของเครื่องทำน้ำเย็น”
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[๒]
ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
รัศมี วิศทเวทย์
ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น