วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

โครงการรักษ์แม่น้ำโก-ลก ประจำปี 2555

โครงการรักษ์แม่น้ำโก-ลก ประจำปี 2555
กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม  เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
 

1. หลักการและเหตุผล
          แม่น้ำสุไหงโก-ลก เป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างไทยมาเลเซีย ต้นน้ำอยู่ที่ อ.สุคิริน ไหลผ่าน อ.แว้ง อ.สุไหงโก-ลก สู่อ่าวไทย ที่ อ.ตากใบ ความยาวประมาณ 103 กิโลเมตร มีประชากรในเขตเทศบาลเมือง
สุไหงโก-ลก ที่อาศัยอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำ จำนวน 8 ชุมชน 1,318 ครัวเรือน 4,988 คน ระยะทางที่แม่น้ำไหลผ่านในเขตเทศบาลประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการเกษตร การขนส่ง ตลอดจนแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา เพื่อการอุปโภคบริโภคของคนในอำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอตากใบ จากการขยายตัวของชุมชน และการเติบโตของเมือง มีการปล่อยน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรม โดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสีย ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น ปริมาณสัตว์น้ำลดลง และก่อให้เกิดปัญหาทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม จากการปล่อยน้ำเสีย และการทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำ หากไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวสุไหงโก-ลกอย่างยิ่ง และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ ฯ ตลอดทั้งสาย
ด้วยเหตุนี้ เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ และการฟื้นฟูแม่น้ำ
สุไหงโก-ลก ให้กลับมาสู่สภาพเดิม โดยการดึงชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียจากการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำแห่งนี้ ตลอดจนส่วนราชการทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีความตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการจัดกิจกรรมปลุกจิตสำนึกให้กับประชาชน และเยาวชน ให้เห็นคุณค่า รู้สึกหวงแหน และมีส่วนรับผิดชอบ ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแม่น้ำสุไหงโก-ลก ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้ สร้างจิตสำนึก จัดกิจกรรมฟื้นฟูแม่น้ำฯ และผนวกการจัดกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าว โดยการจัดกิจกรรมแข่งเรือยอกองของชุมชน เพื่อแสดงถึงความผูกพันของชุมชนกับแม่น้ำ และเป็นการดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การจัดกิจกรรมดังกล่าว ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนมีจิตสำนึกในการร่วมกันอนุรักษ์ให้แม่น้ำสุไหงโก-ลก เป็นแม่น้ำที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวโก-ลก ตลอดไป กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จึงได้จัดทำโครงการรักษ์แม่น้ำ
โก-ลก ประจำปี 2555 ขึ้น

2. วัตถุประสงค์
1. เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตลอดริมฝั่งแม่น้ำสุไหงโก-ลก มีความตระหนัก หวงแหนที่จะช่วยกันดูแล รักษาแม่น้ำ
2. เพื่อฟื้นฟู และปรับปรุงสภาพน้ำในแม่น้ำสุไหงโก-ลก ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
3. เพื่อแสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ เป็นเครือข่ายช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตลอดริมแม่น้ำฯ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
4. เพื่อปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมริมแม่น้ำ บ้านเรือนในชุมชน ให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวสุไหงโก-ลก และชาวต่างประเทศ ต่อไป

3. เป้าหมาย
1. ให้ความรู้ และสร้างจิตสำนึกให้กับผู้นำชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำฯ และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่ผูกพันกับแม่น้ำฯ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการเรือข้ามฝาก กลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้าง จำนวน  200  คน
           2. จัดบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้  จำนวน  1  จุด
3. จัดตั้งชมรมอนุรักษ์ และฟื้นฟูแม่น้ำโก-ลก  จำนวน  1  ชมรม
4. จัดกิจกรรมเก็บขยะ ทำความสะอาดแม่น้ำและบริเวณริมฝั่ง ตลอดจนเทน้ำหมักชีวภาพ EM เพื่อฟื้นฟูสภาพน้ำ ร่วมกับชุมชน จำนวน 200 คน
5. การประกวดหน้าบ้านน่ามอง กลุ่มบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำฯ จำนวน 200 หลังคาเรือน

4. วิธีดำเนินการ
ขั้นเตรียมการ
1. เชิญเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องประชุม เพื่อชี้แจงและปรึกษาหารือ หาแนวทางการดำเนินโครงการฯ
2. เขียนโครงการเพื่อขออนุมัติงบประมาณ
3. เชิญแกนนำชุมชนเป้าหมาย (ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำฯ จำนวน 8 ชุมชน) ประชุมชี้แจง และกำหนดแผนการดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการชุมชนๆ ละ 2 คน อสม. ชุมชนละ 2 คน ผู้นำศาสนาชุมชนละ 2 คน  เจ้าของท่าเรือทุกท่าเรือ ตัวแทนวินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง และตัวแทนเรือรับจ้าง ท่าเรือละ 2 คน
ขั้นดำเนินการ
1. ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานให้ประชาชนในชุมชนรับทราบ โดยการรณรงค์ในชุมชนติดตั้งป้าย
ไวนิล
ประชาสัมพันธ์ และแจกแผ่นพับรณรงค์
2. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมดำเนินงาน และขอสนับสนุนเจ้าหน้าที่ วิทยากร ตลอดจนวัสดุประชาสัมพันธ์ต่างๆ จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด กรมควบคุมมลพิษ  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 การประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุไหงโก-ลก
3. ประสานโรงเรียนเทศบาลในเขต เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมโดยให้เสริมความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์แหล่งน้ำ และสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความรู้ จัดบอร์ดนิทรรศการด้านการอนุรักษ์แม่น้ำ
4. เชิญผู้บริหารท้องถิ่นต่างๆ ที่ตั้งอยู่ตามแนวที่มีแม่น้ำสุไหงโก-ลกไหลผ่าน เข้าร่วมเป็นเกียรติและร่วมสังเกตการณ์ในการจัดกิจกรรม เพื่อกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์แม่น้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
5. จัดเวทีประชาคม และให้ความรู้ในเรื่องของสภาพน้ำในแม่น้ำสุไหงโก-ลก และแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูคุณภาพน้ำ รวมทั้งกิจกรรมบนเวทีและการแสดงดนตรี โดยนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาล
การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยสภาวัฒนธรรม ต.สุไหงโก-ลก
6. จัดกิจกรรมการแข่งขันพายเรือยอกอง จำนวน 24  ทีม โดยเทศบาลสนับสนุนเงินรางวัลพร้อมถ้วย ดำเนินการจัดการแข่งขันโดยชุมชน เพื่อแสดงถึงความผูกพันระหว่างชุมชนกับแม่น้ำฯ และเป็นการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอีกทางหนึ่ง
7. จัดกิจกรรมล่องเรือแลน้ำ โดยขอสนับสนุนเรือจากชมรมผู้ประกอบการเรือข้ามฝาก เพื่อเก็บขยะในแม่น้ำฯ และเทน้ำหมักชีวภาพ EM เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ นำโดยนายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ และชาวบ้านผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำ
8. จัดกิจกรรมทำความสะอาดบริเวณฝั่งแม่น้ำ (Big cleaning day) และปลูกต้นไม้ตามแนวริมฝั่งแม่น้ำฯ
9. จัดการประกวดหน้าบ้านน่ามอง โดยการประเมินด้านความสะอาด ความสวยงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

5. สถานที่ดำเนินการ
1. ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณฝั่งคลอง จำนวน 8 ชุมชน คือ ชุมชนท่าโรงเลื่อย ชุมชนท่าประปา      ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนบือเร็งใน ชุมชนบือเร็งนอก ชุมชนกือดาบารู ชุมชนหัวสะพาน และชุมชนโปฮงยามู ตลอดจนชุมชนที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเสาสัญญาณ ชุมชนบาโงเปาะเล็ง ชุมชนจือแรตูลี ชุมชนบาโงปริเม็ง และชุมชนโต๊ะลือเบ
          2. จัดกิจกรรมให้ความรู้ และกิจกรรมบนเวที ณ ชุมชนโปฮงยามู
          3. จัดกิจกรรมการแข่งขันเรือ ตั้งแต่ชุมชนโปฮงยามู ถึง ชุมชนท่าประปา ระยะทางประมาณ 100  เมตร
          4. จัดกิจกรรมเก็บขยะ (Big cleaning day) ตั้งแต่ชุมชนบือเร็ง ถึง ชุมชนหัวสะพาน
5. จัดกิจกรรมประกวดหน้าบ้านน่ามอง สำหรับบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำฯ จำนวน 7 ท่า คือ ท่าโรงเลื่อย ท่ากอไผ่ ท่าประปา ท่าโต๊ะอาแวตีงี ท่าเจ๊ะกาเซ็ง ท่าชมพู่ และท่าบือเร็ง

6. ระยะเวลาดำเนินการ
1. จัดเวทีประชาคม และอบรมให้ความรู้ชาวชุมชนริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก เรื่องการอนุรักษ์แม่น้ำ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555   
2. จัดงาน ระหว่างวันที่ 3 5  เมษายน พ.ศ. 2555

7. งบประมาณ
จากงบประมาณ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม งานบริการสาธารณสุขและสาธารณสุขอื่น ประเภทค่าใช้สอย รายจ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการฯ ค่าใช้จ่ายในการอบรมอนุรักษ์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม กิจกรรมรณรงค์คัดแยกขยะในครัวเรือน ตั้งไว้ 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) แยกเป็น
         
1.  ค่าอาหารผู้เข้ารับการอบรม  จำนวน  200  คน                     เป็นเงิน 10,000  บาท
          2.  ค่าอาหารว่างผู้เข้ารับการอบรม จำนวน  200  คน                  เป็นเงิน   8,000  บาท
3.  ค่าอาหารว่างคณะทำงานและแขกผู้มีเกียรติ 100 คน               เป็นเงิน   2,000  บาท
4.  ค่าวัสดุ                                                                     เป็นเงิน 26,000  บาท
          5.  ค่าจัดทำไวนิลประชาสัมพันธ์ และฉากหลังเวที                       เป็นเงิน 15,000  บาท
          6.  ค่าตอบแทนนักแสดง                                                     เป็นเงิน 10,000  บาท
          7.  ค่าเช่าเครื่องเสียง จำนวน 2 ชุด                                        เป็นเงิน 19,000  บาท
          8.  ค่าเงินรางวัล                                                               เป็นเงิน 10,000  บาท
                    รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 100,000 บาท  (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
          (ทุกรายการสามารถถัวเฉลี่ยกันได้)

8. การประเมินผล
1. จากการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำฯ ผู้ประกอบการเรือข้ามฟาก และกลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้าง 
          2. จากความสะอาดบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ และการลดลงของขยะในน้ำ
          3.จากการประเมินผลการประกวดหน้าบ้านน่ามองตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้                                                            
9. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ประชาชนมีความรู้ มีจิตสำนึก และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์แม่น้ำ ให้อยู่กับวิถีชีวิตตลอดไป        
2. แม่น้ำมีความสะอาด และมีคุณภาพน้ำดีขึ้น
          3. แม่น้ำ และบริเวณริมฝั่งมีความสะอาด ร่มรื่นสวยงาม
   

วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

รายงานการประชุมกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ครั้งที่ ๕/๒๕๕๕


รายงานการประชุมกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
ครั้งที่  ๕/๒๕๕๕  วันที่  ๒๓  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๕
  ห้องประชุมสภาเทศบาล  ชั้น ๓

เปิดประชุมเวลา ๑๐.๐๐ น.
                เมื่อคณะกรรมการมาพร้อมกันแล้ว นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฯ ได้กล่าวเปิดการประชุมตามระเบียบวาระดังนี้

ระเบียบวาระที่ ๑ : ประธานแจ้งที่ประชุม
                - ไม่มี

ระเบียบวาระที่ ๒ : รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ ๔/๕๕ วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕
มติที่ประชุม : รับรองรายงานประชุม

ระเบียบวาระที่ ๓ : เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
                เรื่องที่ ๑ : รายงานสถานะทางการเงินของกองทุนฯ ยอดยกมา  ๕,๖๐๖,๕๙๐.๗๕  บาท
โดยมี รายรับ-รายจ่าย ดังนี้
๑. จ่ายให้กิจกรรมประเภทที่ ๔
                ๑.๑ ค่าเบี้ยประชุม เอกสาร อาหารว่าง ประจำเดือนมกราคม                  เป็นเงิน            ๗,๐๐๐    บาท
                                                                                                รวมรายจ่าย            เป็นเงิน            ๗,๐๐๐    บาท
๒. รับเงินคืนจากโครงการต่างๆ                                                                             เป็นเงิน        ๓๕,๔๖๖    บาท
                                                                                           คงเหลืองบประมาณกองทุน   ๕,๖๓๕,๐๕๖.๗๕  บาท
มติที่ประชุม : รับทราบ

ระเบียบวาระที่ ๔ : เรื่องเพื่อพิจารณา
เรื่องที่ ๑ : การพิจารณาโครงการที่ขอสนับสนุนงบประมาณ จากหน่วยงาน/ภาคประชาชน จำนวน ๓ โครงการ

โครงการที่ ๑ โครงการรำมวยจีนเพื่อสุขภาพ  ชมรมไท้เก็กอำเภอสุไหงโก-ลก
                โครงการนี้เป็นโครงการที่มีลักษณะการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายด้วยการรำมวยไท้เก็กที่ถูกต้อง และได้รับการฝึกสอนจากอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะ โดยจะครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ วัย และเพศของชาวชุมชน โดยเฉพาะวัยผู้สูงอายุที่ไม่สามารถออกกำลังกายด้วยวิธีหนักๆได้ การรำมวยจีนไท้เก็กคือทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะสามารถบริหารร่างกายได้ทุกส่วน รวมถึงระบบประสาทและสมองด้วย โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน ได้สร้างเสริมสุขภาพ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการออกกำลังกาย สามารถรำมวยไท้เก็กได้ถูกวิธี มีสุขภาพจิตที่ดี และเป็นทางเลือกหนึ่งของการออกกำลังกายโดยเฉพาะวัยผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายของกิจกรรมเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป ทั้งในและนอกชมรมฯ จำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ เป็นค่าตอบแทน ค่าที่พัก ค่าพาหนะวิทยากร ค่าอาหารว่าง ค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง  เป็นเงิน ๕๖,๐๐๐ บาท และชมรมไท้เก็กฯ สนับสนุนเพิ่มเติมอีก ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯได้ให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีครอบคลุมถึงชาวชุมชนที่อยู่ในย่านการค้า ผู้สูงวัยสามารถออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม แต่ให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมและทั่วถึงด้วย
มติที่ประชุม : อนุมัติ  

โครงการที่ ๒ โครงการการจัดงานวันผู้สูงอายุปี ๒๕๕๕  ชมรมผู้สูงอายุอำเภอสุไหงโก-ลก
โครงการนี้เป็นโครงการที่สนับสนุนการจัดกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงวัย เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ (วันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี) โดยจะมีการบรรยายให้ความรู้ การคัดกรองสุขภาพ การจัดนิทรรศการ และอื่นๆ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง มีการทำกิจกรรม พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงามของไทย โดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุในเขตเทศบาลและผู้สนใจ จำนวน ๔๕๐ คน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ เป็นค่าอาหาร ค่าอาหารว่าง ค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง  เป็นเงิน ๔๙,๐๐๐ บาท ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯได้ให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ส่งเสริมการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ แต่เนื่องจากมีการประกวดและให้รางวัลด้วย ได้มีการจัดทำหลักเกณฑ์อย่างไร มีการจัดตั้งคณะกรรมการหรือไม่ เพื่อป้องกันคำครหาเกี่ยวกับความลำเอียง  ซึ่งผู้จัดทำโครงการได้ชี้แจงว่า ได้มีการจัดเก็บข้อมูลของผู้สูอายุแต่ละคนมาตลอด มีการตรวจสุขภาพ และทำการประเมินโดยพยาบาลที่ทำการดูแลเป็นประจำ
มติที่ประชุม : อนุมัติ  

โครงการที่ ๓ โครงการเจริญสุขประสานใจ ต้านภัยยาเสพติด  ชุมชนเจริญสุข
โครงการนี้เป็นโครงการที่ตอบสนองทั้งพระราชดำรัสฯ ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ในการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด ลดปัญหาต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งปัญหาอาชญากรรม การฆาตกรรม ลักเล็กขโมยน้อย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ  ท้องถิ่น เอกชน และชาวชุมชน โดยมีกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยยาเสพติด และกิจกรรมอื่นๆ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชน และชาวชุมชน มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับยาเสพติดที่ถูกต้อง ลดปัญหาครอบครัวและชุมชน มีการใช้เวลาว่างที่เป็นประโยชน์ และสามารถลดการติดยาเสพติดได้ โดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มเยาวชน ผู้ปกครอง และชาวชุมชน จำนวน ๕๐ คน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ เป็นค่าวิทยากร ค่าอาหาร ค่าอาหารว่าง ค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง  เป็นเงิน ๖,๕๕๐ บาท ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯได้ให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ประกอบกับจากที่สำนักปลัดของเทศบาลได้ทำโครงการนำเยาวชนเขตเทศบาลเข้าค่ายร่วมกัน ณ อุทยานป่าบาลา-ฮาลา ได้รับผลตอบรับเป็นเชิงบวก จึงอยากให้ทุกชุมชนทำโครงการลักษณะนี้ด้วย
มติที่ประชุม : อนุมัติ  

ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องเพื่อติดตาม
เรื่องที่ ๑ : รายงานผลการดำเนินงานของอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ
๑.คณะทำงานจัดทำแผนฯ
-ตามที่คณะจัดทำแผนฯได้เชิญผู้บริหารและผู้รับผิดชอบงานอนามัยโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตเทศบาลทุกแห่ง เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ เข้าร่วมฟังคำชี้แจงการทำแผนขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ ซึ่งทางโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ซักถามประเด็นต่างๆเกี่ยวกับกองทุน และได้นัดส่งแผนงานโครงการขอสนับสนุนงบประมาณชุดใหม่ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ นั้น ขณะนี้มีโรงเรียนเสนอแผนเข้ามาแล้ว ประกอบด้วย
โรงเรียน ๓ โรงเรียน คือ โรงเรียนเทศบาล ๓ , เทศบาล ๔ และโรงเรียนบ้านสุไหงโก-ลก
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๓ ศูนย์
ชุมชน ๒ ชุมชน ๓ โครงการ
กองสาธารณสุข ๔ โครงการ
โรงพยาบาล ๓ โครงการ
และชมรมอื่นๆอีก ๓ ชมรม
ซึ่งคณะจัดทำแผนจะมีการประชุมพิจารณาในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี้

๒.อนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ
-รายชื่อคณะกรรมการชุดใหม่ ขณะนี้ได้รับคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจาก สปสช.แล้ว โดยมีการปรับเปลี่ยนรายชื่อคณะกรรมการ ๑ ท่าน คือ จากนายวินัย  นาคใหม่ ผู้แทนชุมชนกือดาบารู  ซึ่งติดภารกิจส่วนตัว ไม่สะดวกต่อการเป็นคณะกรรมการ เปลี่ยนเป็น นายกามารอเด็ง  มามะ ผู้แทนชุมชนโปฮงยามู 
-สปสช. เขต ได้ประสานเรื่องงบประมาณที่ปัจจุบันเกือบทุกแห่งมีงบเหลือมากพอสมควร จึงให้ขยายการโครงการการตรวจมะเร็งปากมดลูกฯ และการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในชุมชนมุสลิม ให้ดูตัวอย่างจากชุมชนที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น สันติสุข หรือเสาสัญญาณ เป็นต้น 

๓.อนุกรรมการฝ่ายการเงิน
-โครงการส่งเสริมพลานามัยชุมชนโต๊ะลือเบ ได้ทำข้อตกลงแล้วให้รับเช็คเพื่อดำเนินการด้วย
     ปลัด                -ให้อนุฝ่ายการเงินตรวจสอบเรื่องหลักฐานให้ถี่ถ้วนด้วย โดยเฉพาะเรื่องใบเสร็จ หรือใบสำคัญต่างๆ  ถ้ามีเงินเหลือให้คืนด้วย

๔.อนุกรรมการฝ่ายติดตามฯ
-ในรอบเดือนที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินกิจกรรมของกองทุนฯ

ระเบียบวาระที่ ๖ : วาระอื่นๆ
ตันจุรีย์ : จากการหารือกับคุณสายัณห์ ผู้รับผิดชอบ สปสช. เขต ๑๒ เรื่องการขอสนับสนุนงบกองทุนเพื่อจัดการแข่งขันกีฬาสามารถจัดทำได้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมาก แต่จะต้องไม่เน้นหรือแสดงเรื่องการแข่งขันเป็นหลัก รวมทั้งเรื่องถ้วยรางวัลให้จัดหาหรือขอสนับสนุนจากหน่วยหรือภาคส่วนอื่นแทน
ที่ประชุม : รับทราบ

ปิดการประชุม ๑๑.๐๐ น.
  นายไซนัล  นิรมาณกุล
                                                                                                                        ผู้บันทึกการประชุม