วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตราประจำเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก

ตราประจำเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก

ตามประจำเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ได้คิดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๓ โดยนายวงศ์ ไชยสุวรรณ์

นายกเทศมนตรีสมัยนั้น เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้น โดยมีความหมายดังต่อไปนี้

พระนารายณ์ ให้หมายถึงพระนารายณ์ ๔ กร ที่อวตารให้บังเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมี

ความสามารถที่จะปกป้องคุ้มครองประเทศไทยไว้จากประเทศล่าเมืองขึ้นไว้ได้ราวกับปาฏิหาริย์

นาค หมายถึงคำที่มาจากภาษาท้องถิ่นนราธิวาสว่า นาฆอแปลว่า นาค

สี่พระกรของพระนารายณ์ คือ

พระกรซ้ายบน ถือคบเพลิง หมายถึงเทศบาลจะส่งเสริมการศึกษา

พระกรซ้ายล่าง ถือแผนที่ประเทศไทย หมายถึงเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อยู่ทางใต้สุดของประเทศไทย

พระกรขวาบน ถือหนังสือ หมายถึงสนธิสัญญา ซึ่งประเทศไทยได้หลุดพ้นจากภาษีร้อยชัก ๓ ในสมัยก่อน

พระกรขวาล่าง อุ้มพานรัฐธรรมนูญ หมายถึงเทศบาลเทิดทูนรัฐธรรมนูญเหนือสิ่งอื่นใด

ประวัติความเป็นมาของเมืองสุไหงโก-ลก


ประวัติความเป็นมาของเมืองสุไหงโก-ลก
เมืองแต่ละเมืองล้วนมีอดีต มีประวัติความเป็นมาของเมือง การรับรู้อดีตทำให้เราได้รับรู้ถึงความเป็นมาของตัวเราเอง และเพื่อบันทึกประวัติความเป็นมาของเมืองสุไหงโก-ลก มิให้สูญหายไปจากความทรงจำของคนสุไหงโก-ลก ในยุคปัจจุบัน จึงขอนำข้อเขียนของนายวงศ์ ไชยสุวรรณ์ ซึ่งได้เขียนประวัติความเป็นมาของตำบลสุไหงโก-ลก และได้มีการตีพิมพ์ไว้เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๙๓ มานำเสนอไว้ ณ ที่นี้
อันดับแรกขอนำเสนอประวัติของนายวงศ์ ไชยสุวรรณ์ ที่เจ้าตัวได้บันทึกไว้ดังนี้
๑.เป็นครูโรงเรียนวัดตานีนรสโมสร จังหวัดปัตตานี
๒.เป็นเสมียนชั้น ๑ มหาดไทย อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
๓.เป็นกำนัน ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
๔.เป็นกำนันตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
๕.เป็นกำนันตำบลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
๖.เป็นผู้แทนตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
๗.เป็นสมาชิกสภาจังหวัดนราธิวาส ๕ สมัย ๒๐ ปี
๘.เป็นประธานสภาจังหวัดนราธิวาส ๒๓ สมัย
๙.เป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก ๒๗ ปี
๑๐.เป็นนายกเทศมนตรีตำบลสุไหงโก-ลก ๕ สมัย
๑๑.เป็นประธานสภาเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ๑๑ สมัย
๑๒.เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ๑ สมัย
ตำบลสุไหงโก-ลก สภาพเดิมอันแท้จริงแต่เดิมมาเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ประชาชนเรียกกันว่าป่าจันตุหลี อาณาเขตป่านี้
- ทางทิศเหนือจดตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงปาดี ส่วนยาว ๖ กิโลเมตร
- ทางทิศใต้จดตำบลกายูคละ อำเภอแว้ง ส่วนยาว ๖ กิโลเมตร
- ทางทิศตะวันออกจดคลองสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นแนวเขตติดต่อกับรัฐกลันตัน กว้าง ๓ กิโลเมตร
- ทางทิศตะวันตกจดตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี กว้าง ๓ กิโลเมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า คำนวณพื้นที่ได้ ๑๘ ตารางกิโลเมตร ที่ดินป่าในอาณาเขตที่กล่าวนี้ตั้งอยู่ในตำบลปูโยะอำเภอสุไหงปาดี หาได้มีบ้านเรือนราษฎรอาศัยอยู่ไม่
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ทางรัฐบาลไก้กรุยทางรถไฟสายใต้ผ่านเข้ามาในเขตป่าจันตุหลี จดคลองสุไหงโก-ลก เพื่อจะเชื่อมทางรถไฟสยามติดต่อกับรถไฟสหรัฐมาลายู ณ ที่แม่น้ำสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นพรหมแดนระหว่างประเทศสยามกับรัฐกลันตัน (ของอังกฤษ) กรมรถไฟได้กะที่ตั้งสถานีรถไฟลงในบริเวณป่านี้ ราษฎรตำบลปูโยะที่มีความเฉลียวฉลาด ก็พากันมาจับจองที่ดินป่าจันตุหลีเอาไว้ บางคนก็ทำการโก่นสร้างทำสวนยางพารารัปเบอร์ บางก็ถือกรรมสิทธิ์หวงเอาไว้เฉยๆ หาได้ทำประโยชน์แต่อย่างใดไม่ ที่ป่ารกร้างว่างเปล่าเกิดมีเจ้าของหวงห้ามขึ้น
ครั้นต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๔ รัฐบาลได้เปิดเดินรถไฟมาถึงสถานีสุไหงโก-ลก ที่ดินใกล้สถานีรถไฟก็ยังคงเป็นป่าอยู่บ้างและมีเจ้าของหวงห้ามเอาไว้บ้าง ส่วนที่ดินที่เจ้าของหวงห้ามเล่า ก็หาได้ทำประโยชน์ขึ้น ปล่อยให้เป็นป่ารกร้างอยู่เช่นเดิม ในขณะที่ทางฝั่งคลองสุไหงโก-ลก ทิศตะวันออก มีชนบทรันตูปันยังในเขตรัฐกลันตัน เป็นชนบทที่ประชาชนอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น มีอาคารบ้านเรือนร้านค้าเป็นปึกแผ่นเป็นที่ชุมชนในแหล่งการค้าประชาชนในตำบลปูโยะ มีสินค้าจะซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินหรือจะซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ก้ต้องข้ามไปซื้อหาที่สถานีรถไฟรันตูปันยัง (ฝั่งทางรัฐกลันตัน) เพราะในสมัยนั้น มีตลอดอยู่เฉพาะที่รันตูปันยังแห่งเดียว การนำของเข้าออกก็ต้องเสียภาษีทั้งสองฝ่าย คือทางฝ่ายสยามและฝ่ายกลันตัน จึงไม่เป็นการสะดวกแก่ประชาชนชาวสยาม การหาเลี้ยงชีพในทางค้าขายของราษฎรในตำบลปูโยะ ไม่ได้รับความเจริญ ไม่ทำให้เกิดการสมบูรณ์พูลสุขขึ้นได้ เพราะต้องอาศัยตลาดของทางฝั่งต่างประเทศเป็นที่ทำการซื้อขาย
ใน พ.ศ.๒๔๖๘ ข้าพเจ้าได้มาตั้งร้านค้าอยู่ในที่ดินของนายอาฉ่ำ หลังสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ที่ดินรายนี้ในเวลานั้นมีบ้านเรือนของผู้อื่นมาตั้งอยู่ด้วย มีจำนวน ๖ หลังคาเรือน คือ นายหวัง สมัครกิจ นายฮวด เจียตระกูล นายหลีหลง นายฝ่าช่อง นายชั้ว อามิ่ง นายเจ๊ะหมัด สาเระ รวม ๗ หลังคาเรือนทั้งข้าพเจ้า เป็นผู้มาตั้งภูมิลำเนาและเปิดทำการค้าขายอยู่ในครั้งแรก ส่วนนอกจากนี้แล้วก็ยังเป็นป่ารกร้างว่างเปล่าหาได้มีบ้านเรือนผู้อื่นอีกไม่
ครั้นต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๒ นายจัน โฉมอุทัย ซึ่งเป็นกำนันตำบลปูโยะ ถึงแก่กรรมลง กำนันในตำบลนี้ว่าง จะหาตัวผู้เป็นกำนันปกครองตำบลปูโยะต่อไปไม่ได้ คณะกรรมการอำเภอสุไหงปาดี ได้พยายามมาอ้อนวอนข้าพเจ้า ให้ช่วยรับหน้าที่เป็นกำนันในตำบลนี้หลายครั้งหลายคราว พร้อมทั้งราษฎรในตำบลนี้ด้วยที่พากันมาอ้อนวอนขอให้ข้าพเจ้ารับหน้าที่เป็นกำนัน ข้าพเจ้าเสียการอ้อนวอนของราษฎรไม่ได้จำเป็นยอมรับเป็นกำนันปกครองตำบลปูโยะในปลายปี พ.ศ.นี้ เมื่อข้าพเจ้ารับหน้าที่เป็นกำนันมาได้ประมาณ ๖ เดือน ข้าพเจ้ามาคิดดูว่า เมื่อเรารับหน้าที่เขาเช่นนี้แล้วก็เท่ากับเรารับภาระอาสาพลเมือง ที่จะช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรก่อให้เกิดความสุขสำราญ ให้ราษฎรมีที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ จะต้องบำรุงให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ จึงจะได้ขึ้นชื่อว่าได้ทำ ประโยชน์ให้กับราษฎรอันแท้จริง
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ข้าพเจ้าจึงมาคิดว่าที่ดินป่าใกล้สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ทิศใต้ที่ดินในตอนนี้เป็นป่ารกร้างว่างเปล่าอยู่มาก ถ้าทำการแผ้วถางป่าปราบที่ดินให้ราบเตียนแล้วจะสร้างขึ้นเป็นชนบท สร้างเป็นตลาดทำให้เกิดเป็นชุมชนขึ้นได้ คงจะมีผู้มาอยู่เป็นแน่ แต่การที่จะทำการโก่นสร้างป่าแก่ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ขนาดโตเท่ากับ ๒-๓ คนโอบให้ราบเตียนได้ จะต้องลงทุนค่าแรงจ้างตั้งหลายร้อยบาท หากลงทุนโก่นสร้างราบเตียนลงไปแล้วไม่มีคนมาอยู่ ก็ไม่เกิดความเจริญขึ้นก็จะต้องขาดทุนเปล่า จึงเกิดความลังเลใจว่าควรจะทำดีหรือไม่ควรจะทำ ความคิดเกิดเป็นสองฝักสองฝ่าย ข้าพเจ้าจึงได้นำแผนผังโครงการ ที่จะทำการสร้างชนบทสุไหงโก-ลก ในตำบลปูโยะนี้ ไปหาพระศรีสุทัศน์ ข้าหลวงประจำจังหวัดนราธิวาสสมัยนั้นเรียนวัตถุประสงค์ที่ข้าพเจ้าคิดการสร้างชนบท และตลาดดังกล่าวมาแล้วแต่ข้างต้นนั้น ให้ข้าหลวงทราบข้าหลวงได้ดูแผนผังและโครงการของข้าพเจ้าแล้วหัวเราะเยาะ ตอบกับข้าพเจ้าโดยประณามว่า ความคิดบ้าๆที่แกจะปราบที่ดินป่าแก่สร้างเป็นเมืองขึ้นนี้ ผีอะไรจะมาอยู่กับแก(พูดตามความจริง) ข้าพเจ้าจึงนำโครงการและแผนผังอันนั้นมาปรึกษากับเพื่อนฝูง และผู้มีชื่ออีกหลายท่าน คงได้รับความคิดเห็น อย่างประณามว่า ข้าพเจ้าเป็นบ้าแทบทุกคน โดยที่ข้าพเจ้าคิดทำการในสิ่งที่ยังไม่มีใครเขาเคยคิดกันขึ้นเลยเช่นนี้ กระทำให้ข้าพเจ้าเกิดการท้อใจโดยมาคำนึงถึงตำพูดคนส่วนมาก ซึ่งข้าพเจ้าไปพูดคุยให้เขาฟังในเรื่องจะทำการโก่นสร้างป่านี้ สร้างเป็นชนบทขึ้น ข้าพเจ้าไปพูด ณ ที่ใด คนผู้ฟังส่วนมากพากันเหมาว่าข้าพเจ้าเป็นบ้า พากันล้อเลียนเยาะเย้ยข้าพเจ้าต่างๆนาๆ ข้าพเจ้ามานึกว่าความคิดข้าพเจ้านี้ คนส่วนมากเขาเห็นว่าเป็นความคิดบ้าๆ ข้าพเจ้าชักไม่ไว้ใจตนเอง กลัวว่าจะเป็นบ้าไปจริงๆก็ได้ เกือบจะหมดความมานะในการที่จะสร้างชนบทนี้ขึ้นเสียแล้ว แต่บังเอิญซึ่งผลสำเร็จจะบังเกิดให้บรรลุไปตามจุดที่หมายของข้าพเจ้า ก็มีนายนกั่น สามนกฤษณะ นายเจ๊ะ หมัดสาเระ นายเจ๊ะอุเซ็ง นายหวันยายอ นายอาแว บือชาเจ้าของที่ดินบริเวณป่าจันตุหลีนี้ เห็นว่าโครงการและแผนผังของข้าพเจ้าที่คิดขึ้นนี้ เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ดี ถ้าคิดสร้างบรรลุผลสำเร็จแล้วจะทำประโยชน์ให้กับประชาชนตำบลนี้เป็นอันมาก เขาจึงได้รวบรวมเงินก้อนหนึ่ง เป็นจำนวน ๕๐๐ บาท (ในสมัยนั้นเงินห้าร้อยบาท เป็นเงินมีค่ามากมาย) มามอบให้ข้าพเจ้าพร้อมทั้งมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ข้าพเจ้าจัดการถางป่า และปราบที่ดิน วางแผนผังตามโครงการที่ข้าพเจ้าคิดนั้นได้ทุกประการ ในตอนนี้ข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจขึ้นบ้างว่า ความคิดของข้าพเจ้านี้ ข้าพเจ้าไม่เป็นบ้าแต่คนเดียวแล้ว มีคนมาพลอยร่วมเป็นบ้าด้วยตั้ง ๕ คน ข้าพเจ้าได้จัดการถางป่าและทำการปราบดินราบเตียนแล้ว ลงมือตัดถนนในบริเวณเนื้อที่ดินที่ทำการปราบนั้น เป็นเนื้อที่ ๑,๒๒๕ ไร่ ได้ตัดถนนตามแผนผังรวม ๓๑ สาย สายที่ ๑ ให้ชื่อว่าถนนเจริญเขต สายที่ ๒ ให้ชื่อว่าถนนเทศปฐม สายที่ ๓ ให้ชื่อว่าถนนสฤษดิ์ สายที่ ๔ ให้ชื่อถนนชื่นมรรคา สายที่ ๕ ให้ชื่อถนนวรคามินทร์ สายที่ ๖ ให้ชื่อถนนไชยสุวรรณ์ดำรง สายที่ ๗ ให้ชื่อถนนวงค์วิถี สายที่ ๘ ให้ชื่อถนนประชาสำราญ สายที่ ๙ ให้ชื่อถนนประชาลีลาศ สายที่ ๑๐ ให้ชื่อถนนชลธารเขต สายที่ ๑๑ ให้ชื่อถนนประเวศน์ชลธี สายที่ ๑๒ ให้ชื่อถนนวิถีอุทก สายที่ ๑๓ให้ชื่อถนนประชาวิวัฒน์ สายที่ ๑๔ ให้ชื่อถนนบุษยพันธ ์ สายที่ ๑๕ ให้ชื่อถนนปฏิมา สายที่ ๑๖ ให้ชื่อถนนอารีฟมรรคา สายที่ ๑๗ ให้ชื่อถนนวามันอำนวย สายที่ ๑๘ ให้ชื่อถนนวงศ์วิวัฒน์ สายที่ ๑๙ ให้ชื่อถนนวงศ์ประดิษฐ์ สายที่ ๒๐ ตัดในที่ดินหลังสถานีรถไฟไปยังสะพานเหล็กข้ามคลองสุไหงโก-ลก ให้ชื่อว่าถนนรถไฟสายที่ ๒๑ ตัดจากรางรถไฟตำบลปาเสมัส สายที่ ๒๒ สายหน้าที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก และหน้าสำนักงานเทศบาลในสมัยปัจจุบันนี้ สายที่ ๒๓ ตัดจากรางรถไฟหน้าสถานีสุไหงโก-ลก ไปยังวัดชลเฉลิมเขต ไปด้านหลังที่ว่าการอำเภอไปตำบลปาเสมัส ตำบลปูโยะ สายที่ ๒๕ ตัดจากรางรถไฟผ่านบ้านกาบารูไปต่อกับถนนในตำบลปาเสมัส ตำบลปูโยะ สายที่ ๒๖ ตัดต่อจากถนนชื่นมรรคาผ่านหน้าสถานีตำรวจสุไหงโก-ลก ไปยังฝั่งคลองสุไหงโก-ลก สายที่ ๒๗ เข้าไปยังศาลเจ้าแม่ม้าโพ่ อีก ๔ สาย เป็นถนนสายสั้นๆอยู่ในบริเวณตลาดสุไหงโก-ลก และการสร้างถนนทั้งหมดนี้ จ้างเหมาทำเป็นสายๆค่าจ้างเหมาตั้งแต่สายละ๖-๗-๘ บาท ราคาสูงสุดถึงสายละ ๑๒ บาท โดยราคาเงินในสมัยนั้นค่าน้ำเงินสูง ถ้าเทียบเงินสมัยปัจจุบันนี้เงิน ๑ บาทสมัยนั้น เท่ากับจำนวน ๕๐๐ บาท ในสมัยปัจจุบันนี้ (ปี พ.ศ.๒๔๙๓ ) ประชาชนพลเมืองในสมัยนั้น ต้องเสียเงินรัชชูปการให้กับรัฐบาลปีละ ๓ บาท นับเวลาเป็นปีๆ ราษฎรยังหาเงินจำนวน ๓ บาทไปชำระค่ารัชชูปการให้รัฐบาลไม่ได้ ถึงกับต้องจับกุมเอาตัวมาทำงานโยธาคนละ ๑ เดือน ใช้แรงงานแทนเงินแล้วรัฐบาลเสียเงินค่ารัชชูปการทั้งค่าปรับแก ๓ บาท เป็นเงิน ๖ บาทให้ เมื่อสร้างถนนเป็นสายๆและพร้อมทั้งปราบที่ดินราบเตียนเรียบร้อยแล้วข้าพเจ้าได้ลงทุนสร้างตลาดสด ๑ หลัง ในศูนย์กลางเนื้อที่ดินนี้ โดยเงินลงทุนของข้าพเจ้าเอง เสร็จการสร้างตลาดสดเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าพยายามไปตามหมู่บ้านในตำบลนี้ มีหมู่บ้าน ๑๒ หมู่บ้านข้าพเจ้าประชุมราษฎรพยายามชี้แจงการทำมาหาเลี้ยงชีพ แนะนำในการค้าขาย ให้ราษฎรช่วยกันหาสินค้านำไปนั่งขายที่ตลาดที่ข้าพเจ้าปลูกเอาไว้นั้น และแนะนำการปลูกพืชผลต่างๆเมื่อทำการเพาะปลูกได้ผลแล้วให้นำไปซื้อขายในตลาดนี้ ข้าพเจ้าพยายามชักชวนและทำการแนะนำอยู่เสมอๆ และพยายามทำการล่อน้ำใจเช่นในวันเสาร์ อาทิตย์ จัดให้มีตลาดนัดขึ้น ส่วนเวลากลางคืนหามหรสพพื้นเมืองมาแสดงประชันกัน เป็นการรื่นเริงสัปดาห์และครั้ง กระทำอยู่เช่นนี้ประมารปีเศษ ก็มีประชาชนมานั่งซื้อขายกันอยู่พอสมควร ข้าพเจ้าได้แนะนำชักจูงเจ้าของที่ดินบริเวณนี้ ซึ่งกล่าวมานานแล้วแต่ข้างต้นนั้นให้ปลูกเรือนห้องแถวขึ้นเจ้าของละ ๒-๓ ห้องก่อน และให้ตัดเนื้อดินแบ่งขายให้กับผู้อื่นบ้าง โดยราคาย่อมเยาเพื่อเป็นการล่อให้คนมาอยู่กันเป็นหลักแหล่งกันขึ้น และค่าที่ดินนั้นให้ผู้ซื้อผ่อนชำระเงินเป็นรายเดือน เจ้าของที่ดินก็เชื่อถือได้จัดการปลูกสร้างห้องแถว และขายที่ดินตามคำแนะนำของข้าพเจ้า ราคาที่ดินสมัยนั้นขายกันห้องละ ๒๐-๓๐ บาท และผ่อนให้เงินค่าที่ดินเป็นรายเดือนๆละ ๕๐ สตางค์บ้าง เดือนละ ๑ บาท บ้าง แต่มีข้อสัญญาเอาไว้ว่า ผู้ใดซื้อแล้วในกำหนด ๑ เดือน ไม่ทำการปลูกห้องแถวขึ้น เจ้าของที่ดินกลับเอาคืนเอาไปขายให้ผู้อื่นต่อไปใหม่ จึงมีผู้มาซื้อที่ดินและปลูกห้องแถวขึ้นมากเป็นลำดับ
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๗๔ ในเนื้อที่ตามบริเวณขอบเขตที่ปราบเอาไว้นี้ ก็บังเกิดเป็นบ้านเรือนห้องแถวมากขึ้น และตลาดที่ปลูกไว้นั้นก็มีประชาชนมานั่งซื้อขายกันเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ส่วนร้านที่นั่งขายบริเวณตลาดสดข้าพเจ้ามิได้เก็บเงินเลย ให้นั่งขายฟรีเป็นเวลา ๓ ปี ข้าพเจ้าก็ยังไม่ละความพยายามได้เที่ยวชักชวนพ่อค้าคหบดีในท้องถิ่นต่างๆ และชักชวนพ่อค้าในต่างประเทศใกล้เคียงบ้าง ให้มาซื้อที่ดินปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนค้าขายในที่นี้ และโฆษณาชวนเชื่อว่าจะดำเนินนโยบาย จะขออนุญาตต่อรัฐบาลตั้งบ่อนชนโค กระบือขึ้น และจะทำถนนขากชนบทนี้ไปยังท้องที่อำเภอตากใบ ทำถนนจากชนบทสุไหงโก-ลก ไปยังที่ว่าการอำเภอสุไหงปาดี ทำถนนไปยังอำเภอแว้ง และจะทำการขุดคลองจากแม่น้ำสุไหงโก-ลก ให้เรือเข้ามาจอดได้ถึงหน้าสถานีตำรวจสุไหงโก-ลก และจะทำการสร้างวัดพุทธขึ้นสัก ๑ แห่ง จะจัดสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นสัก ๑ โรงเรียน ให้กุลบุตรกุลธิดาได้รับการศึกษาอบรมทัดเทียมกับชนบทอื่น แต่สมัยนั้นเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช นโยบายและโครงการของข้าพเจ้าที่จะกระทำขึ้นนั้น ไม่บรรลุผลสมประสงค์ดังจุดที่หมายในบางสิ่งบางอย่าง ถูกผู้มีอำนาจเหนือกดเอาไว้ เกรงว่าข้าพเจ้าจะเกิดมีอิทธิพลมากไป การขออนุญาตตั้งบ่อนชนโคกระบือ การขออนุญาตตัดถนน ๓ สายนี้ และการขออนุญาตขุดคลองข้าหลวงประจำจังหวัดไม่อนุญาต คงได้กระทำแต่ปลูกสร้างโรงเรียนชั่วคราวขึ้น ๑ หลัง โดยทุนของข้าพเจ้า สร้างเสร็จแล้วขอครูมาประจำ ๒ นาย เป็นประวัติการณ์ที่มีโรงเรียนขึ้นครั้งแรกในตำบลสุไหงโก-ลก ข้าพเจ้าเป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้นมา ส่วนการสร้างวัดพุทธในปีนี้ ทำแต่เฉพาะชักชวนราษฎรคนไทยแผ้วถางป่า ขุดต่อ ปราบที่ดินการถางป่ากว่าจะเสร็จเรียบร้อยเป็นเวลา ๕ เดือน สิ้นปี พ.ศ.นี้
ครั้นต่อมา พ.ศ.๒๔๗๕ ข้าพเจ้าได้ชักชวนราษฎรบอกบุญเรี่ยไรเงินคิดสร้างกุฎิขึ้น ๕ หลัง สร้างศาลาโรงธรรมขึ้น ๑ หลัง สร้างโรงครัวขึ้น ๑ หลัง สร้างบ่อน้ำขึ้น ๑ บ่อ และนิมนต์พระสงฆ์ในรัฐกลันตันเข้ามาอยู่เป็นครั้งแรก ๑๑ รูป แต่ในครั้งนั้นในชนบทนี้คนไทยโดยมากไม่ค่อยได้รับการศึกษาอบรมในการที่จะบำเพ็ญกุศลตามกรณียกิจในทางศาสนา ก็ไม่ใคร่จะทำบุญใส่บาตรกัน ข้าพเจ้าต้องเดินออกไปตามหมู่บ้านประชุมราษฎร แสดงปาฐกถาเรื่องบุญบาป ชักชวนจูงน้ำใจให้เกิดความเลื่อมใส บางหมู่บ้านถึงกับต้องบังคับให้หุงข้าวใส่บาตรทุกๆวัน บางเรือนในเวลาเช้าๆข้าพเจ้าต้องไปบังคับหุงข้าว หุงแล้วข้าพเจ้าจะช่วยใส่บาตรให้เอง กระทำอยู่เช่นนี้เป็นเวลาหลายเดือน ประชาชนในตำบลนี้จะเนื่องมาจากที่เกิดความรำคาญข้าพเจ้าซึ่งรบกวนเขาอยู่เสมอๆ ในเรื่องที่บังคับให้ทำการกุศลนั้น หรือเขาเกิดความเลื่อมใสศรัทธาขึ้นมาเองก็หาทราบไม่ ต่อๆมาก็ได้เห็นประชาชนในตำบลนี้ ขยันขันแข็งเคร่งครัดในการทำบุญให้ทานมากขึ้น วัดก็ได้ตั้งถาวรมั่นคง จึงให้ชื่อวัดนี้ว่า วัดชลเฉลิมเขต มาจนถึงบัดนี้ และปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าได้จัดตั้งโรงเรียนนักธรรมขึ้น เพื่อให้คณะสงฆ์ได้รับการศึกษาโดยเรี่ยไรจ้างครูสอนประจำอยู่จนบัดนี้
ตำบลปูโยะนี้มีพลเมืองอยู่เดิม ตามสำมะโนครัวจำนวน ๕,๘๐๐ คน และภูมิประเทศของตำบลนี้กว้างขวางมีที่ดินสำหรับทำนาและทำสวนมาก แต่ราษฎรไม่ค่อยเอาใจใส่ในการเพาะปลูก ทั้งบางแห่งเนื้อที่เป็นที่ลุ่มน้ำ ทำนาไม่ค่อยได้ผล เพราะไม่มีคูระบายน้ำไปสู่ลำคลอง ข้าพเจ้าได้ออกไปตามหมู่บ้านประชุมราษฎร แนะนำในการเพาะปลูกพืชผลและเลี้ยงปศุสัตว์ บังคับให้ราษฎรในครัวเรือนหนึ่งๆให้ปลูกตะไคร้ ๕ กอ ปลูกข่า ๕ กอ ปลูกพลู ๕ ค้าง ปลูกกล้วย ๕ กอ ปลูกหมาก ๕ ต้น ปลูกมะพร้าว ๕ ต้น ปลูกมะเขือ ๕ ต้น เลี้ยงไก่ ๕ แม่ เลี้ยงเป็ด ๕ แม่ สำหรับได้รับประทานในครัวเรือนของตนโดยไม่ต้องวิ่งไปหาขอผู้อื่น แต่ถ้าใครไม่ทำข้าพเจ้าจะเอาโทษ ราษฎรก็พากันกระทำตาม โดยความเกรงกลัวข้าพเจ้า แต่ภายหลังปรากฏว่าผลที่ข้าพเจ้าบังคับให้กระทำนั้น บังเกิดผลขึ้นกับเขาทุกๆคน เพราะของที่พวกเขาปลูกไว้นั้น เหลือจากรับประทานขายได้ ส่วนพื้นดินที่ว่างเปล่าซึ่งเป็นที่ลุ่มเหมาะในการทำนาข้าว แต่ไม่มีคูระบายน้ำออกไปลำคลอง ถึงฤดูฝนน้ำท่วมขังยู่นานๆต้นข้าวที่ราษฎรปักดำไว้เกิดเสียหายไม่ได้รับผลเสมอๆทุกๆปี นั้น ข้าพเจ้าได้ชักชวนราษฎรทุกหมู่บ้าน พร้อมกันขุดคูระบายน้ำให้ไหลออกไปยังคลองสุไหงโก-ลก เป็นระยะคูน้ำยาว๒,๗๐๐ วาเศษ น้ำที่ติดขังอยู่ได้ระบายจนแห้ง ราษฎรทำนาได้ข้าว เป็นผลสมประสงค์ทุกๆปีมาจนถึงบัดนี้ตำบลนี้สภาพเป็นตำบลใหญ่ มีหมู่บ้านถึง ๑๒ หมู่บ้าน แต่การคมนาคมไปมาหากันในตำบลไม่สะดวก ข้าพเจ้าได้ชักชวนผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรช่วยกันทำถนนขึ้นให้ติดต่อกันทุกๆหมู่บ้านไปมาหากันได้สะดวกจนได้ใช้รถจักรยานยนต์ผ่านไปมาหากันได้ และเป็นถนนถาวรปรากฏอยู่แก่ตำบลปูโยะ ตำบลปาเสมัสในปัจจุบันนี้
ในตำบลนี้ ราษฎรเป็นคนไทยอิสลามเป็นจำนวนมาก แต่การปฏิบัติตามลัทธิศาสนาของเขาไม่ค่อยจะเอาใจใส่ ข้าพเจ้าได้ช่วยแนะนำสั่งสอนในทางศาสนาอิสลามและชักชวนให้ปลูกสร้างสุเหร่าขึ้นทุกๆหมู่บ้าน โดยข้าพเจ้าออกเงินส่วนตัวของข้าพเจ้าเองสร้างให้บ้าง ทุนเงินเรี่ยไรปลูกสร้างให้บ้าง ทุกๆวันศุกร์ข้าพเจ้าได้ออกตรวจตามสุเหร่าที่ได้สร้างขึ้นนี้ เรียกร้องให้คนไทยอิสลามมาทำการละหมาดตามลัทธิศาสนา สุเหร่าของคนไทยอิสลามที่ข้าพเจ้าริเริ่มสร้างให้นั้น ชนชาวอิสลามได้พร้อมกันพัฒนาเป็นมัสยิดที่สวยงามขึ้นมาเป็นประวัติการณ์ อยู่ในขณะนี้
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ข้าพเจ้าได้ชักชวนผู้ใหญ่บ้านและราษฎรในตำบลปูโยะ ช่วยกันออกไม้และจะปลูกสร้างที่พักหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรสุไหงโก-ลก ให้ ๑ หลัง ซึ่งเป็นที่พักของนายร้อยตำรวจอยู่เดียวนี้ และช่วยขุดตอปราบดิน ในบริเวณสถานีตำรวจสุไหงโก-ลกให้ราบเตียน ช่วยทำถนนในบริเวณให้ ๑ สายด้วย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ข้าพเจ้าได้จัดการเรี่ยไรเงินได้ ๔๕๐ บาท กับเรี่ยไรตัวไม้และจากได้เป็นจำนวนมาก จึงจัดการปลูกสร้างที่พักอาศัยให้พลตำรวจสถานีตำรวจสุไหงโก-ลก ปลูกเป็นเรือนห้องแถวเป็นจำนวน ๑๔ ห้อง เครื่องไม้กลมและไม้เหลี่ยมผสม ฝากระดานหลังคามุงจาก พื้นลาดปูนซีเมนต์ ซึ่งพลตำรวจได้ใช้เป็นที่พักอาศัยกันอยู่เดี๋ยวนี้
การทำมาหาเลี้ยงชีพในการค้าขายโดยมากราษฎรผู้หญิงไทยอิสลามไม่ค่อยทำงานการอาชีพ โดยถือว่าขายของขายขนมข้าวต้มเป็นของเลว เกิดความละอายเพื่อนฝูง เพราะตามประเพณีของเขาต้องให้สามีเป็นผู้ทำงานหาเลี้ยง ส่วนผู้หญิงเป็นภริยานั้นมีหน้าที่อยู่กับบ้านเรือน ทำหน้าที่หุงต้มอาหารที่ทางฝ่ายสามีเป็นผู้หามาให้ถึงมือของตน ข้าพเจ้าได้ออกไปตามหมู่บ้านเรียกราษฎรผู้หญิงมาประชุม แนะนำสั่งสอนให้ประกอบอาชีพทางการค้าขาย หากใครทำขนมข้าวต้มไปนั่งขายที่ตลาดของข้าพเจ้าในวันเสาร์อาทิตย์เสมอๆจนครบ ๓ เดือน ข้าพเจ้าจะให้รางวัลคนขยัน คนละ ๓๐ บาท เพื่อทำตัวอย่างในการชักชวนนี้ข้าพเจ้าในภริยาของข้าพเจ้าทำขนมข้าวต้มมานั่งขายบ้าง เที่ยวเดินเร่ขายบ้าง เพื่อให้เขาเห็นว่าภริยากำนันนายตำบลก็ยังเที่ยวเดินหาบขนมขายตามถนนได้ ภริยาของข้าพเจ้ากระทำเป็นตัวอย่างอยู่เช่นนี้เป็นเวลานาน ราษฎรหญิงในตำบลนี้ก็พากันเอาอย่าง เกิดการนิยมชมชอบในการค้าขายขึ้นทุกๆหมู่บ้าน และเกิดการขยันขันแข็งในการค้าขายขึ้นตลอดมาจนถึงขณะนี้
การปกครองราษฎร ข้าพเจ้าให้โอกาสกับราษฎรไว้ว่า หากเขามีกิจธุระจะทำการติดต่อกับข้าพเจ้าๆ ยินดีทุกเมื่อที่จะช่วยเหลือเขาไม่ว่าที่ไหนเวลาใด หากเป็นเวลาที่ข้าพเจ้าหลับนอนก็ร้องเรียกได้ ข้าพเจ้าได้เอาฆ้องแขวนไว้หน้าบ้าน ๑ ใบ หากราษฎรมีกิจธุระต้องการพบข้าพเจ้า ก็ให้ตีฆ้องใบนั้นขึ้น ไม่ว่าเวลาใดตีได้ ตั้งแต่แขวนฆ้องก็ไม่ปรากฏว่าราษฎรคนใดไปตีเลย ฆ้องใบนั้นก็คงแขวนอยู่เฉยๆ ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ประเทศสยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาปกครองระบอบรัฐธรรมนูญข้าพเจ้ารู้สึกพอใจการปกครองระบอบนี้ เหมาะสมเป็นที่พอใจของข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะข้าพเจ้าทำการปกครองราษฎรอยู่ในขณะนั้น ก็เข้าหลักตรงกับระบอบอันนี้อยู่ก่อนแล้ว ข้าพเจ้าจึงช่วยทำการชี้แจงให้ราษฎรทุกๆหมู่บ้านเลื่อมใสการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๖ รัฐบาลประกาศรับสมัครเลือกตั้งผู้แทนตำบล ข้าพเจ้าได้สมัครเข้าแข่งขันเพื่อเข้ารับเลือกเป็นผู้แทนตำบลปูโยะ การสมัครแข่งขันครั้งนั้นมีผู้สมัครรวมด้วยกัน ๕ คน อาศัยคุณงามความดีของข้าพเจ้า ซึ่งทำไว้ต่อประชาชนในระหว่างที่ข้าพเจ้ารับราชการเป็นกำนัน นายตำบลดังกล่าวมาแล้ว ราษฎรจึงเลือกข้าพเจ้าเป็นผู้แทนตำบลปูโยะ เมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้แทนตำบล ข้าพเจ้าได้ทำคุณประโยชน์ให้กับราษฎรตามหน้าที่ดังกล่าวต่อไปนี้
๑.ข้าพเจ้าได้ขอร้องให้กรมรถไฟ จัดเดินรถไฟเพิ่มขึ้น ๑ ขบวน จากสถานีรถไฟยะลาไปยังสถานีสุไหงโก-ลก เรียกรถไฟขบวนนี้ว่าขบวนกลางวัน กรมรถไฟได้จัดการเดินรถขบวนนี้ตามที่ข้าพเจ้าร้องขอประชาชนผู้โดยสารจึงได้รับความสะดวก
๒.ที่สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก แต่ครั้งก่อนมาหามีบุรุษไปรษณีย์ ซึ่งจะทำการเดินส่งหนังสือและโทรเลขในตลาดสุไหงโก-ลกไม่ ข้าพเจ้าได้ร้องขอต่อกรมไปรษณีย์โทรเลขให้มีบุรุษไปรษณีย์ขึ้น ๑ คน กรมไปรษณีย์ก็จัดให้ตามที่ข้าพเจ้าร้องขอ
๓.ข้าพเจ้าได้ทำคำร้องยื่นต่อกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้กระทรวงนี้เจรจาขอที่ดินของกรมรถไฟกว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๒๐๐ เมตร จะจัดการปลูกสร้างเป็นโรงเรียนถาวรขึ้นที่สุไหงโก-ลก กรมรถไฟก็อนุญาตตามที่ข้าพเจ้าร้องขอ และกระทรวงศึกษาธิการให้เงิน ๑,๐๐๐ บาท มาสมทบในการปลูกสร้างโรงเรียนข้าพเจ้าจัดการเรี่ยไรเงินได้เป็นจำนวน ๑,๗๐๐ บาท ได้ทำการปลูกสร้างเสร็จเรียบร้อยใช้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของกุลบุตรกุลธิดามาจนถึงบัดนี้ นับเป็นประวัติการณ์อันสำคัญที่บุคคลขอที่ดินรถไฟมาได้เป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดเช่นนี้
๔.ข้าพเจ้าได้วางโครงการจัดสร้างถนนจากสุไหงโก-ลก ไปยังอำเภอตากใบ ๑ สาย จากสุไหงโก-ลก ไปยังสุไหงปาดี ๑ สาย สร้างไปยังอำเภอแว้ง ๑ สาย และได้ลงมือสร้างถนนไปจดหมดเขตตำบลของข้าพเจ้าแล้ว ทั้ง ๓ สาย ซึ่งคำนวณระยะทางที่สร้างแล้วเสร็จเป็นสายๆดังนี้ ถนนสายจากสุไหงโก-ลก ไปต่อเขตอำเภอตากใบเป็นระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร ถนนสายสุไหงโก-ลก ไปต่อเขตตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดีเป็นระยะทาง ๖ กิโลเมตร สายสุไหงโก-ลก ไปอำเภอแว้ง ๖ กิโลเมตร หมดเขตตำบลของข้าพเจ้า ถนนสายนี้หลวงนรกิจกำจร นายอำเภอแว้งในสมัยนั้นได้สร้างมาติดต่อจนสำเร็จ เป็นถนนถาวรอยู่ในสมัยปัจจุบันนี้ส่วนถนนอีกสองสายนั้น หากทางอำเภอตากใบและอำเภอสุไหงปาดี ทำมาติดต่อเส้นทาง ๒ สายนี้ จะก่อให้เกิดการคมนาคมอันสำคัญต่อไปในอนาคต ส่วนการคมนาคมในเขตตำบลของข้าพเจ้านั้นทุกๆหมู่บ้านไปมาหากันได้สะดวก
๕.ข้าพเจ้าได้ยื่นคำร้องต่อ กระทรวงมหาดไทย ขออนุญาตตั้งบ่อนชนโคกระบือขึ้นในตำบลปูโยะกระทรวงมหาดไทย อนุญาตให้ข้าพเจ้าตั้งบ่อนขึ้นได้ตามขอใน พ.ศ.๒๔๗๗ จึงกระทำให้มีบ่อนชนโคติดเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็โดยการริเริ่มของข้าพเจ้า
๖.ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ ข้าพเจ้าได้ร้องขอต่อ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี (ในสมัยนั้น) เชิญเอารัฐธรรมนูญฉบับจำลอง มาทำการฉลองที่สุไหงโก-ลก นายกรัฐมนตรีก็อนุญาตตามที่ข้าพเจ้าร้องขอ ข้าพเจ้าได้จัดให้มีงานฉลอง ๑๐ วัน ในงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งนี้ รัฐบาลได้อนุญาตให้เปิดการพนันประเภท ๒ มีการชนโค ชนกระบือ ชนไก่ ตกเบ็ด บิงโก ยิงเป้า ไพ่เผ ไพ่ตอง มีการชกมวยไทย ชกมวยชีละมลายู ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกใน ๔ จังหวัดภาคใต้ ติดเนื่องกันมาจนถึงขณะนี้ โดยที่ข้าพเจ้าเป็นผู้ริเริ่มมาก่อนทั้งนั้น มีการออกร้านประกวด มีการประกวดพืชผล ประกวดปศุสัตว์ ประกวดขวนแห่ ในงานนี้มีข้าราชการหัวหน้ากรมกองต่างๆในจังหวัดพระนคร ได้พากันมาร่วมงานในครั้งนี้เป็นอันมาก ปลัดกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมโฆษณาการเป็นประธานในงาน พระพิชิตบัญชาราช ข้าหลวงประจำจังหวัดนราธิวาส พระยาภูผาภักดีศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา พระยาเมืองเป็นกรรมการ นอกนั้นมีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต่างๆ งาน ๑๐ วันดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ในบริเวณป่าที่ข้าพเจ้าทำการแผ้วถางทำเป็นชนบทดังกล่าวมาแล้วนั้นเกิดเป็นอาคารบ้านเรือนมีประชาชนพากันมาอยู่อย่างหนาแน่น จนปรากฏว่ามีราษฎรเข้ามาอยู่ใหม่ เป็นจำนวน ๖,๔๐๐ คนเศษ เมื่อรวมเข้ากับตำบลปูโยะ ซึ่งมีอยู่ก่อน ๕,๘๐๐ คน เป็นจำนวนราษฎร ๑๒,๓๐๐คน ในกลางปี พ.ศ. นี้เองรัฐบาลได้แยกตำบลปูโยะ ออกเป็น ๒ ตำบลโดยเอาอาณาเขตกว้างยาวของป่าจันตุหลีทั้งหมด ที่ข้าพเจ้าสร้างเป็นชนบทขึ้นเป็นเขตตำบล เรียกตำบลสุไหงโก-ลก ส่วนเนื้อที่นอกเขตตำบลนี้คงเป็นตำบลปูโยะตามเดิม ข้าพเจ้าเป็นกำนันตำบลสุไหงโก-ลก ส่วนในตำบลปูโยะได้จัดตั้งกำนันขึ้นใหม่แทนข้าพเจ้า ราษฎรในตำบลปูโยะมีจำนวน ๒,๔๗๓ คน ได้ทำคำร้องยื่นต่อกระทรวงมหาดไทยคัดค้านไม่เห็นด้วยในการที่แยกตำบลปูโยะออกเป็น ๒ ตำบล ทั้งขัดขืนไม่ยอมให้กำนันคนใหม่ปกครอง รัฐบาลจึงให้แยกตำบลปูโยะออกใหม่อีกเป็น ๒ ตำบล ตำบลที่แยกใหม่นี้เรียกว่าตำบลปาเสมัส เขตติดต่อกับตำบลสุไหงโก-ลกทางด้านทิศเหนือ ทั้งนี้ส่อให้เห็นได้ว่าในชั่วระยะไม่กี่ปี ที่ข้าพเจ้ารับหน้าที่เป็นกำนันตำบลปูโยะมานี้ ได้ทำนุบำรุงท้องถิ่นให้เกิดความเจริญขึ้น จึงมีประชาชนเข้ามาตั้งภูมิลำเนาเป็นหลักเป็นแหล่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก กระทำให้ตำบลปูโยะเป็นตำบลใหญ่จนรัฐบาลต้องแบ่งการปกครองในตำบลเดียวออกเป็น ๓ ตำบลได้
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในปลายเดือนมีนาคมพ.ศ.นี้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มาตรวจราชการถึงตำบลสุไหงโก-ลก ข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปิดเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก จอมพล ป.พิบูลสงครามเห็นพ้องด้วย จึงสั่งให้ทำการเปิดเทศบาลขึ้นในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ นับเป็นประวัติศาสตร์ที่แปลกประหลาด โดยขอตั้งเทศบาลขึ้นมานี้ขอกันด้วยวาจารัฐบาลได้แต่งตั้งสมาชิกสภาเทศบาลผู้เริ่มเตรียมการครั้งแรก ซึ่งอายุสมาชิกภาพมีกำหนดเพียง ๒ ปี ผู้ได้รับแต่งตั้งครั้งนี้มี ข้าพเจ้า ขุนสรกิจกังวาน นายน่วม สุวพันธ์ นายเอิบ อิสสระ นายสุวรรณ มุสิกบุตรนายหวัง สมัครกิจ นายจรูญ จูฑะวิภาค นายคำ สุวรรณราช นายเจ๊ะหมัด บินวาฮับ รวม ๙ นาย ข้าพเจ้าได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรี ขุนสรกิจกังวาน นายน่วม สุวพันธ์ เป็นเทศมนตรี
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๖ อายุสมาชิกภาพชุดนี้สิ้นสุดลง ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลกันใหม่ โดยประชาชนในเขตเทศบาลเป็นผู้เลือก ผู้ที่ได้รับเลือกมีข้าพเจ้า นายน่วม สุวพันธ์ นายเต็น สุขสมบูรณ์ นายเอิบ อิสสระ นายสุวรรณ มุสิกบุตร นายจรูญ จูฑะวิภาค นายมี ไชยสุวรรณ นายปลื้มสำหสมณี นางแก้ว สวนเดือนฉาย รวม ๙ นาย ที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ส่วนสมาชิกประเภทที่ ๒ มีจำนวน ๑๒ คน ข้าพเจ้าได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี นายน่วม สุวพันธ์ นายปลื้ม สำหสมณี เป็นเทศมนตรี ในกลางปี พ.ศ.นี้ นางแก้ว สวนเดือนฉาย ได้ลาออกจากสมาชิกภาพ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง นายแซว ผุสระ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลแทนในตำแหน่งที่ว่างนั้น ครั้งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ นายปลื้ม สำหสมณี ได้ลาออกจากสมาชิกภาพไป ได้มีการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาเทศบาลเป็นครั้งที่ ๒ นายยศ นิคม ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลแทนในตำแหน่งที่ว่างต่อไป ส่วนตำแหน่งเทศมนตรีที่ว่างอยู่นั้น นายสุวรรณ มุสิกบุตร ได้รับเลือกเป็นเทศมนตรีแทน ในปลายปี พ.ศ.นี้ ข้าพเจ้าได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี ข้าหลวงประจำจังหวัดนราธิวาส ได้อนุญาตให้ลาออกได้ตามความประสงค์ ได้มีการเลือกนายกเทศมนตรีกันใหม่ สมาชิกสภาเทสบาลตำบลนี้เลือกข้าพเจ้า เป็นนายกเทศมนตรีอีกต่อไป นายเต็น สุขสมบูรณ์ นายเอิบ อิสสระ เป็น เทศมนตรี รวมเวลา๗ ปี ที่ได้เปิดเทศบาลตำบลขึ้นในชนบทนี้ ข้าพเจ้า ได้จัดการบูรณะท้องถิ่นโดยจัดให้มีโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลขึ้น ๒ หลัง จัดให้มีส้วมถังเทตามแบบของเทศบาล จัดให้มีถังขยะมูลฝอยตามแบบสาธารณะสุขจัดตั้งโรงเรียนเพิ่มขึ้น ๓ แห่ง รวมทั้งของเดิมเป็น ๔ โรงเรียน จัดบูรณะถนนหนทางเป็นคอนกรีต เป็นถนนลาดยาง ให้สะอาดเรียบร้อย จัดทำผังเมือง และวางหลักเกณฑ์ ในการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนของราษฎรในเขตเทศบาลให้เป็นระเบียบ ซึ่งเวลานี้อาคารบ้านเรือนร้านค้าหนาแน่นขึ้น นับว่าในสมัยปัจจุบันนี้ตำบลสุไหงโก-ลก เป็นแหล่งการค้าขายขึ้นแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งเกิดเป็นชุมชนอันใหญ่เมื่อประชาชนเข้ามาอยู่กับคับคั่ง สิ่งที่จำเป็นซึ่งเขาต้องการบางอย่างยังขาดอยู่ เช่น สุสาน สนามกีฬา ท่าเทียบเรือ ดังนี้ข้าพเจ้าจึงได้ยกที่ดินของข้าพเจ้าให้เป็นสุสานของคนไทยพุทธ สำหรับทำการเผาศพและฝั่งศพ กว้าง ๔๕วา ยาว ๗๐ วา และแบ่งที่ดินที่ดินที่ติดต่อกับที่ดินแปลงนี้ให้กับชนชาวจีนทำสุสานสำหรับฝั่งศพ กว้าง ๔๕ วา ยาว ๗๐ วา และจับจองที่ดินป่ากว้าง ๕๐ วา ยาว ๑๐๐ วา ยกให้คนไทยอิสลามทำสุสานสำหรับฝั่งศพซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าจัดสร้างท่าเทียบเรือขึ้น ณ ที่ปลายถนนประเวศน์ชลธีริมฝั่งคลองสุไหงโก-ลก โดยที่ดินแปลงนี้เป็นของข้าพเจ้าประมาณ ๑ ไร่เศษ ราคา ๒๕,๐๐๐ บาท ข้าพเจ้ายกให้เป็นบริเวณท่าเทียบเรือของเทศบาล ซึ่งปรากฏอยู่ในขณะนี้
ข้าพเจ้าได้จัดสร้างสนามฟุตบอล สำหรับให้เป็นสนามกีฬาสำหรับประชาชน และนักเรียนในบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านสุไหงโก-ลก โดยเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้าง เป็นเงิน ๓,๕๐๐ บาท เงินจำนวนนี้เป็นเงินส่วนตัวของข้าพเจ้า อุทิศให้เป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งปรากฏเป็นสนามฟุตบอลเป็นมาตรฐานอยู่ในปัจจุบันนี้
ครั้งวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ข้าพเจ้าได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสข้าพเจ้าได้ลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนราษฎรต่อไป ส่วนตำแหน่งนายกเทศมนตรี เมื่อข้าพเจ้าลาออกไปแล้วนั้น นายเอิบ อิสสระ ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีบริหารราชการส่วนท้องถิ่นแทนข้าพเจ้าต่อไป
เมื่อข้าพเจ้าได้รับเลือกเข้าไปเป็นผู้แทนราษฎร นั้น ข้าพเจ้าได้เสนอให้รัฐบาล ยกฐานะตำบลสุไหงโก-ลก ขึ้นเป็นอำเภอ เพราะตำบลนี้ตั้งอยู่ชายแดนติดต่อกับต่างประเทศ และมีเทศบาลตั้งอยู่แล้ว รัฐบาลสมัยนั้นเห็นพ้องตามที่ข้าพเจ้าเสนอ จึงตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้นมาก่อน ครั้นต่อมาจึงตั้งเป็นอำเภอซึ่งปรากฏอยู่ในขณะนี้ เป็นประวัติการณที่ตั้งอำเภอขึ้น โดยที่ข้าพเจ้าเสนอขอจากรัฐบาลมา
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๐ อายุสมาชิกภาพของผู้แทนราษฎร สิ้นอายุตามวาระแห่งรัฐธรรมนูญข้าพเจ้ากลับมายังภูมิลำเนาเดิมตำบลสุไหงโก-ลก ให้จัดการสร้างสวนสนุกขึ้น ใช้ชื่อว่า สวนวงศ์สุขารมณ์ในสวนสนุกที่สร้างขึ้นมานี้ มีการมหรสพต่างๆหามาแสดงในเวลากลางคืน มีรำวง มีระบำศิลปนายหรั่งเรืองนาม มีลิเก มีหนังสด มีมะโย่ง มีมโนราห์ มีหนังตะลุงไทยและมาลายู มีบังซาหวัน มีลำตัดไทยมีลำตัดแขก (ลิเกฮูลู) มีภาพยนตร์ฉายประจำ มีรถไต่ถัง มีชิงช้าสวรรค์ มีการชกมวยเป็นประจำทุกคืน ส่วนมหรสพนั้นผลัดเปลี่ยนกันมาแสดง เวลากลางวัน มีการชนโคชนกระบือ ชนแกะ ชนไก่ แข่งขันกีฬาฟุตบอลมีทีมฟุตบอลตามท้องที่ต่างๆมาแข่งขัน ประชาชนพลเมืองตามท้องที่ต่างๆตลอดถึงต่างประเทศตลอดถึงต่างประเทศกลันตันพากันหลั่งไหลเข้ามาดูงาน ทั้งกลางวันกลางคืน เป็นงานประจำวันเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน เก็บค่าผ่านประตูเข้าชมคนละ ๓ บาท ซึ่งสมัยนั้นไม่มี ณ ที่ใดที่จะคิดทำสวนสนุกจัดงานอย่างนี้ขึ้นมาเลย ข้าพเจ้าเป็นผู้ริเริ่มขึ้นมาในประเทศไทยเป็นคนแรก ประชาชนบังเกิดนิยมชมชอบดูงานแบบนี้กันอย่างคับคั่ง ต่อมาทางราชการจังหวัดปัตตานี เรียบแบบงานจากข้าพเจ้า ไปจัดงานประจำปีขึ้นในจังหวัดนั้น นับเป็นมือที่ ๒ จากข้าพเจ้า ต่อมาก็บังเกิดความนิยมจัดงานแบบของข้าพเจ้านี้ ขึ้นมาเป็นการแพร่หลาย และบางท้องที่จัดเป็นงานประจำปีกันเป็นประเพณีอยู่ ณ บัดนี้
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๒ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลกันใหม่อีก ข้าพเจ้าสมัครเข้าทำการแข่งขันได้รับเลือกจากประชาชนในตำบลนี้เป็นสมาชิกสภาเทศบาล และรับเลือกจากสมาชิกสภาเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก ข้าพเจ้าเข้ามาบริหารราชการท้องถิ่นในครั้งนี้ได้แต่งตั้งให้ นายวีระ วัชรีวงศ์ ณ อยุธยา เป็นเทศมนตรี นายพร้อม หิรัญศรี เป็น เทศมนตรีในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ข้าพเจ้าได้เรียกพ่อค้าจีน ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องถิ่นตำบลสุไหงโก-ลก ประชุมที่บนเวทีรำวง ให้สวนวงศ์สุขารมณ์ ชักชวนพ่อค้าจีนคิดสร้างศาลเจ้าในตำบลสุไหงโก-ลก เมื่อทำการสร้างเสร็จแล้วให้ไปเชิญเอาเจ้าแม่ม้าโพ่ ซึ่งเป็นเจ้าแม่ที่มีอภินิหารอันศักดิ์สิทธิ์ เดิมประดิษฐานอยู่บนภูเขาเมืองลิซอ กิ่งอำเภอโต๊ะโม๊ะ มาก่อนประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ และมีผู้โยกย้ายพาลี้ภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ลงมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ เอามาไว้ที่สามแยก ตำบลกายูคละ เมื่อประชุมชักชวนพ่อค้าจีนต่างคนต่างมีความยินดีและมีความพอใจกันเป็นอันมาก จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดหาเงินปลูกสร้างศาลขึ้น ข้าพเจ้าผู้ชักชวนได้ออกเงินให้เป็นตัวอย่างก่อนมอบให้คณะกรรมการเป็นเงิน ๑,๕๐๐ บาท ต่อไปมีพ่อค้าคนจีนช่วยออกเงินคนละมากๆทำการปลูกสร้างศาลเจ้าขึ้นมาจนสำเร็จ และไปเชิญเอาเจ้าแม่ม้าโพ่มา การที่มีศาลเจ้าขึ้นในตำบลนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ริเริ่มให้มีขึ้นมาเป็นประวัติการณ์
ข้าพเจ้าได้เข้าบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้จัดการปลูกสร้างที่ทำการเทศบาลขึ้นซึ่งเป็นที่ทำการเทศบาลปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ครั้งต่อมา ข้าพเจ้าได้รายงานเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ตั้งโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาขึ้นในท้องที่อำเภอสุไหงโก-ลก เป็นอำเภอแรกในจังหวัดนราธิวาส ที่ตั้งโรงเรียนมัธยมขึ้นมา แต่ครั้งแรกตั้งขึ้นมานี้ให้มีเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เท่านั้นต่อมา นายเอิบ อิสสระ ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ได้เสนอขอจากรัฐบาลให้มีถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งอนุชนได้ศึกษากันอยู่ในปัจจุบันนี้
ครั้งต่อมาข้าพเจ้าได้มีหนังสือไปขอให้ กรมไปรษณีย์โทรเลข เปิดที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขขึ้นในตำบลสุไหงโก-ลก กรมไปรษณีย์เห็นพ้องตามที่ข้าพเจ้าเสนอไปนั้น ได้ขอให้ข้าพเจ้าจัดหาสถานที่สำหรับตั้งที่ทำการให้เป็นการชั่วคราวก่อน ข้าพเจ้าได้เช่าห้องแถวของนายกลั่น สามนกฤษณะให้ ๑ ห้อง โดยข้าพเจ้าได้ออกเงินส่วนตัวให้ค่าแป๊ะเจี๊ยะกับเจ้าของห้องไป เป็นเงิน ๗๐๐ บาทถ้วน กรมไปรษณีย์ จึงได้ทำการเปิดการไปรษณีย์โทรเลข ขึ้นในท้องที่อำเภอสุไหงโก-ลก เป็นครั้งแรก ณ ห้องแถวนี้เป็นประวัติการณ์ ครั้งต่อมากิจการสื่อสารการไปรษณีย์โทรเลขที่ตั้งขึ้นมาในท้องที่นี้ เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้จัดสร้างที่ทำการไปรษณีย์เป็นอาคารของตนเองขึ้นมาในที่ดินของกรมรถไฟ ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ต่อมาข้าพเจ้าได้มีหนังสือไปยังกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ตั้งสุขศาลาชั้น ๑ ขึ้นในตำบลสุไหงโก-ลก กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยตามที่ข้าพเจ้าเสนอให้จัดตั้งสุขศาลาชั้น ๑ ขึ้น ข้าพเจ้าได้ช่วยจัดการหาเงินทุนสร้างสุขศาลา โดยอนุญาตให้จัดงานขึ้นในสวนวงศ์สุขารมณ์ ๗ วัน ๗ คืน เก็บเงินรายได้ค่าผ่านประตูได้เงินประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาทเศษ ได้จัดการปลูกสร้างสุขศาลาชั้น ๑ ขึ้น ซึ่งมีปรากฏอยู่ในปัจจุบันต่อมาข้าพเจ้าได้มีหนังสือไปถึงกระทรวงมหาดไทยขอให้รัฐบาลจัดตั้งการประปาขึ้นในตำบลสุไหงโก-ลก เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคน้ำสะอาดบริสุทธิ์ รัฐบาลเห็นพ้องตามที่ข้าพเจ้าเสนอจึงให้เงินงบประมาณมาสร้างเป็นเงิน ๑ ล้านแปดแสนบาท ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้
ข้าพเจ้าเสนอความคิดเห็น เสนอแนะให้ คุณเทียน อัชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ให้ขอไปรัฐบาล ตั้งโรงพยาบาลขึ้นในตำบลสุไหงโก-ลก โดยให้เหตุผลว่า ทั้งสองอำเภอนี้ตั้งอยู่ชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย (กลันตัน) คืออำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง ทั้งที่ ๒ อำเภอนี้ มีพลเมืองประมาณ๕๐,๐๐๐ คนเศษ เวลาเจ็บป่วยขึ้น ก็พากันออกไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่เมืองกลันตันอยู่เสมอเป็นการเสียหายแก่รัฐบาลของเราในด้านนโยบายทางการเมืองใน ๔ จังหวัดภาคใต้ คุณเทียน อัชกุลเห็นด้วยกับความคิดเห็นที่ข้าพเจ้าเสนอแนะ จึงได้พยายามวิ่งเต้นติดต่อกับรัฐบาลขอตั้งโรงพยาบาลขึ้นในท้องที่อำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งประชาชนพลเมืองทั้ง ๒ อำเภอได้อาศัยเป็นสถานที่รักษาพยาบาล บำบัดโรคภัยไข้เจ็บอยู่ปัจจุบันนี้ พลเมืองทั้ง ๒ อำเภอนี้รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของคุณเทียน อัชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในสมัยนั้นอยู่เป็นอันมาก
ตามที่ข้าพเจ้าได้ทำการเบิกป่าและจัดสร้างเป็นชนบทสุไหงโก-ลก ขึ้นมา ตามสภาพอันเป็นประจักษ์พยานดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ท่านทั้งหลายคงจะเห็นได้ว่าข้าพเจ้าผู้บุกเบิกป่า ทำให้เป็นบ้านเมืองขึ้นมาได้นั้น จะต้องใช้กำลังทรัพย์กำลังสมอง โดยใช้สติปัญญา กำลังความคิด ต้องตรากตรำอย่างหนักมาแล้วอย่างใดบ้างนั้น สภาพทางด้านวัตถุที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนี้ ตามที่กล่าวอ้างมานั้นเป็นสิ่งให้ท่านพิจารณาเองว่า ข้าพเจ้ามีภาระหนักเพียงใด ที่พยายามปลุกปล้ำให้ชนบทสุไหงโก-ลก เป็นบ้านเมืองที่เจริญขึ้นมา ทัดเทียวกับชนบทที่เขามีความเจริญมาก่อนแล้วนั้น แต่โดยที่เจตนารมณ์ของข้าพเจ้า ต้องการให้พลเมืองที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนี้ ให้บังเกิดความสุขทั้งทั่งหน้ากันจึงนับว่าเป็นโชคดีอยู่เสมอที่ข้าพเจ้าเสนอความคิดเห็น เสนอขออะไรเข้าไป ซึ่งจะบังเกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนร่วมในท้องที่นี้ ทางรัฐบาลทุกสมัยเห็นพ้องด้วยและเป็นผลสำเร็จตามที่เสนอขอไปนั้นทุกครั้ง จึงขอขอบพระคุณคณะรัฐบาลทุกสมัยแทนประชาชนพลเมืองในท้องถิ่นนี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย
(นายวงศ์ ไชยสุวรรณ์ ได้บันทึกและตีพิมพ์ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๙๓)
เทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก ในวันที่ 24 มิถุนายน 2843 มีพื้นที่ 22 ตารางกิโลเมตร ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลไปทางทิศเหนือ เขตตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก 0.5 ตารางกิโลเมตร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 83 ตอนที่ 21 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2509 รวมพื้นที่ 22.5 ตารางกิโลเมตรต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลเมือง

ตราประจำเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
ตามประจำเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ได้คิดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๓ โดยนายวงศ์ ไชยสุวรรณ์
นายกเทศมนตรีสมัยนั้น เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้น โดยมีความหมายดังต่อไปนี้
พระนารายณ์ ให้หมายถึงพระนารายณ์ ๔ กร ที่อวตารให้บังเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมี
ความสามารถที่จะปกป้องคุ้มครองประเทศไทยไว้จากประเทศล่าเมืองขึ้นไว้ได้ราวกับปาฏิหาริย์
นาค หมายถึงคำที่มาจากภาษาท้องถิ่นนราธิวาสว่า นาฆอแปลว่า นาค
สี่พระกรของพระนารายณ์ คือ
พระกรซ้ายบน ถือคบเพลิง หมายถึงเทศบาลจะส่งเสริมการศึกษา
พระกรซ้ายล่าง ถือแผนที่ประเทศไทย หมายถึงเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อยู่ทางใต้สุดของประเทศไทย
พระกรขวาบน ถือหนังสือ หมายถึงสนธิสัญญา ซึ่งประเทศไทยได้หลุดพ้นจากภาษีร้อยชัก ๓ ในสมัยก่อน
พระกรขวาล่าง อุ้มพานรัฐธรรมนูญ หมายถึงเทศบาลเทิดทูนรัฐธรรมนูญเหนือสิ่งอื่นใด

ทำเนียบปลัดเทศบาล


ทำเนียบปลัดเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก
ลำดับที่
ชื่อ - นามสกุล
ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
นายอนันต์ สุวรรณราช
พ.ศ.๒๔๘๖ ๒๔๘๗
นายสุข บุญช่วย
พ.ศ.๒๔๘๗ ๒๕๐๔
นายถวิล ไพรสณฑ์
พ.ศ.๒๕๐๔ ๒๕๐๙
นายถนัด ช่างชุม
พ.ศ.๒๕๐๙ ๒๕๑๖
นายชด แสงต่าย
พ.ศ.๒๕๑๖ ๒๕๑๘
นายปรีชา ลวณะวณิช
พ.ศ.๒๕๑๙ ๒๕๑๙
นายวิชัย พิศาลผล
พ.ศ.๒๕๑๙ ๒๕๒๐
นายภักดี พิทักษ์นราธรรม
พ.ศ.๒๕๒๐ ๒๕๒๑
นายวิโรจน์ นามสินธ์
พ.ศ.๒๕๒๑ ๒๕๒๔
๑๐
นายคณิต จารวรรณ
พ.ศ.๒๕๒๔ ๒๕๒๕
๑๑
นายสนิท จักรวรรดิ
พ.ศ.๒๕๒๕ ๒๕๒๘
๑๒
นายระมล มนต์แก้ว
พ.ศ.๒๕๒๘ ๒๕๓๑
๑๓
นายสมมาตร์ อดุลพันธ์
พ.ศ.๒๕๓๑ ๒๕๓๑
๑๔
นายมานิต บุญสนอง
พ.ศ.๒๕๓๑ ๒๕๓๒
๑๕
นายจิตติ ยั่งยืน
พ.ศ.๒๕๓๒ ๒๕๓๕
๑๖
นายพิชัย เพ็งหนู
พ.ศ.๒๕๓๕ ๒๕๓๖
๑๗
นายจิตติ ยั่งยืน
พ.ศ.๒๕๓๖ ๒๕๓๖
๑๘
นางปรณีต ถาวร
พ.ศ.๒๕๓๖ - ๒๕๔๐
๑๙
นายสมปอง พุ่มนุ่ม
พ.ศ.๒๕๔๐ - ๒๕๔๒
๒๐
นายเกรียงศักดิ์ สุเมธอมรรัตน์
พ.ศ.๒๕๔๒ - ๒๕๔๓
๒๑
นางปรณีต ถาวร
พ.ศ.๒๕๔๓ ๒๕๔๗
ทำเนียบปลัดเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
นางปรณีต ถาวร
พ.ศ.๒๕๔๗ ๒๕๔๙
นายนพพล ถ้ำเจริญ
พ.ศ.๒๕๔๙ ปัจจุบัน