วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

รายงานการประชุมกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ครั้งที่ ๔/๒๕๕๙



รายงานการประชุมกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
ครั้งที่   ๔/๒๕๕๙    วันที่     มีนาคม   ๒๕๕๙
  ห้องประชุมสภาเทศบาล  ชั้น ๓
เปิดประชุมเวลา  ๐๙.๐๐ น.
            เมื่อคณะกรรมการมาพร้อมกันแล้ว นางสุชาดา  พันธ์นรา ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฯได้กล่าวเปิดประชุมตามระเบียบวาระดังนี้
ระเบียบวาระที่ ๑ : ประธานแจ้งที่ประชุม  ไม่มีเรื่องแจ้ง
ระเบียบวาระที่ ๒ : รับรองรายงานการประชุม  ครั้งที่  ๓/๒๕๕๙   วันที่  ๒๖  มกราคม  ๒๕๕
มติที่ประชุม : รับรองรายงานประชุม
ระเบียบวาระที่ ๓ : เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
เรื่องที่ ๑   รายงานสถานะทางการเงินของกองทุน ฯ ประจำเดือน  มกราคม  ๒๕๕๙  มีรายละเอียดดังนี้
                        ยอดยกมา   ๗,๓๔๕,๓๔๒.๓๖   บาท
๑.๑ รายรับ                                                               ไม่มี
๑.๒ รายจ่าย
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๑                                  ๑,๔๔๑           บาท
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๒                                   ๕๒,๐๐๐         บาท
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๓                                  ๙๔,๖๐๐                     บาท
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๔                                    ไม่มี         
ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประเภทที่ ๕                                  ไม่มี
รวมรายจ่ายทั้ง ๕  กิจกรรมเป็นเงิน               ๑๔๘,๐๔๑         บาท
                คงเหลือเงินกองทุนฯ         ๗,๑๙๗,๓๐๑.๓๖    บาท
มติที่ประชุม : รับทราบ
ระเบียบวาระที่ ๔ : เรื่องเพื่อพิจารณา
เรื่องที่  : การพิจารณาโครงการที่ขอสนับสนุนงบประมาณ จากหน่วยงาน/ภาคประชาชน  ๑๑  โครงการ
โครงการที่ ๑  โครงการส่งเสริมสุขภาพแกนนำสตรีมุสลิม เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
            โครงการนี้เป็นโครงการของชมรมแกนนำสตรีมุสลิม เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพแก่แกนนำสตรีมุสลิม เพื่อให้แกนนำสตรีมีความรู้โภชนาการที่ถูกต้องและเหมาะสม  เพราะสมาชิกหลายท่านเริ่มมีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น นิยมรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมัน กะทิ ไม่นิยมรับประทานผัก ไม่ค่อยออกกำลังกาย ประกอบกับผู้สูงอายุเริ่มมีอาการป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง เป็นต้น ทางสมาชิกคณะกรรมการกลุ่มจึงได้พูดคุย ปรึกษาหารือ เพื่อจัดกิจกรรมขึ้นโดยสมาชิกส่วนใหญ่สนใจกิจกรรมการออกกำลังกาย และกิจกรรมด้านโภชนาการ ดังนั้นเพื่อให้สมาชิกแกนนำสตรีได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นสมาชิกแกนนำกลุ่มสตรีมุสลิม ๖๐ คน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ  ๒๕,๕๕๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าอาหารกลางวัน ค่าวิทยากร ค่าสาธิตอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็นในโครงการนี้
 คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี  สามารถให้กลุ่มแกนนำสตรีมุสลิมมีความรู้ในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น นำไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน  บริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการเหมาะสมกับวัย
มติที่ประชุม : อนุมัติ  และให้ทางชมรมฯแนบตารางการอบรมในแต่ละวัน มีกิจกรรมอย่างไรบ้าง
โครงการที่         โครงการพัฒนาศักยภาพ  care giver  ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง
โครงการนี้ เป็นโครงการของทางศูนย์แพทย์ใกล้ใจ ๒ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนให้มีคุณภาพ ลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยติดเตียง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในเรื่องการจัดการปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน จากการดำเนินงานของศูนย์แพทย์ใกล้ใจ ๒ ในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า ในชุมชนที่รับผิดชอบ ๑๔ ชุมชน มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จำนวน ๔๓๕ ราย สามารถควบคุมได้ ๒๗๖ ราย และเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยติดเตียงจำนวน ๒๒ ราย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นภาระของญาติในการดูแล เพราะฉะนั้นผู้ดูแลเหล่านี้จะต้องมีทักษะความรู้ ความสามารถในการช่วยเหลือผู้ป่วย เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ พัฒนาศักยภาพให้กับผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยมีทีมหมอครอบครัวระดับตำบล อำเภอ และภาคีเครือข่าย ร่วมดูแลประสานให้ความร่วมมือ ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ๖๐ คน  ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน ๙,๔๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าอาหารกลางวัน ค่าตอบแทนวิทยากร ค่าอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็น
คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า  เป็นโครงการที่ดี  สามารถพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงให้มีความรู้ ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยติดเตียง
 มติที่ประชุม : อนุมัติ  และควรปรับเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ช่วยเหลือ ดูแลผู้สูงอายุพึ่งพิงฯ แทนชื่อเดิม  เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับโครงการที่จะเบิกในงบกองทุนดูแลผู้สูงอายุพึ่งพิง
โครงการที่         โครงการคัดกรองเร็วไวห่างไกลมะเร็ง
โครงการนี้ เป็นโครงการของศูนย์แพทย์ใกล้ใจ ๒  จัดเพื่อให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก/มะเร็งเต้านม พร้อมทั้งสามารถตรวจนมด้วยตนเองได้ เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก/มะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น เพื่อลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูก/มะเร็งเต้านมในระยะรุนแรง จากสถานการณ์ปัจจุบันมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง คือ มะเร็งปากมดลูก รองลงมาคือ มะเร็งเต้านม จากการดำเนินงานในปี ๒๕๕๘ พบว่ามีสตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ ๓๐-๖๐ ปี ในเขตรับผิดชอบ ๑๔ ชุมชน จำนวน ๑,๗๕๙ คน ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจำนวน ๒๑๘ ราย ซึ่งยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ยังต้องดำเนินการค้นหาและเน้นย้ำให้ประชาชนเล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพ เพื่อลดอัตราป่วย อัตราตายจากโรคมะเร็ง และส่งต่อรักษาได้ทันท่วงที  โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นสตรีอายุ ๓๐-๖๐ ปี ในเขตรับผิดชอบ จำนวน ๗๐๐ ราย ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน ๑๘,๖๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าโมเดลเต้านม ส่วนค่าวิทยากรใช้บุคลากรของทางศูนย์แพทย์
คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า  เป็นโครงการที่ดี  สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เร็วขึ้น เมื่อพบเจอปัญหาสามารถส่งต่อและได้รับการรักษาทันท่วงที
มติที่ประชุม : อนุมัติ  
โครงการที่         โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแม่และเด็กชุมชนกูโบร์ ปี ๒๕๕๙
โครงการนี้ เป็นโครงการของศูนย์แพทย์ใกล้ใจ ๒ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพ ทักษะของทีมงานอนามัยและเด็กระดับชุมชนและตำบล เพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก เพื่อจัดตั้งแม่ชมรมอาสาในชุมชน โดยจะนำร่องชุมชนกูโบร์เป็นชุมชนแรก การแก้ไขปัญหาดังกล่าวในสถานบริการเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ จำเป็นต้องมีการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแม่และเด็กร่วมกับชุมชน โดยมีการคืนข้อมูลให้ชุมชน การจัดเวทีประชาคมและมีการรวมตัวแกนนำในชุมชน โดยการจัดตั้งชมรมแม่อาสา และให้ความรู้แก่แม่อาสาและอสม.ให้สามารถช่วยเหลือดูแลสมาชิกในชุมชนได้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายดังนี้
๑.      อสม.และแม่อาสาชุมชนกูโบร์ จำนวน ๑๕ ราย
๒.      หญิงตั้งครรภ์ชุมชนกูโบร์ จำนวน ๒๓ ราย
๓.      หญิงวัยเจริญพันธุ์ชุมชนกูโบร์ จำนวน ๑๙๒ ราย
๔.      หญิงหลังคลอดกูโบร์ จำนวน ๒๓ ราย
๕.      เด็กแรกเกิด – ๗๒ เดือน ชุมชนกูโบร์ จำนวน ๑๔๓ ราย
ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ ทั้งหมดจำนวน ๖,๐๗๕ บาทซึ่งมีการแบ่งกิจกรรมเป็น๓ กิจกรรม ดังนี้
กิจกรรมที่ ๑ จัดตั้งชมรมแม่อาสาในชุมชนเพื่อเป็นแกนนำในการดูแลแม่และเด็กในชุมชน ใช้งบประมาณ ๒,๒๒๕ บาท  เป็นค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าวิทยากรและค่าวัสดุอุปกรณ์ในการอบรม
กิจกรรมที่ ๒ รณรงค์ค้นหาหญิงตั้งครรภ์รายใหม่ เพื่อค้นหาหญิงตั้งครรภ์ให้มาฝากครรภ์ก่อน ๑๒ สัปดาห์ ค้นหาหญิงตั้งครรภ์อายุต่ำกว่า ๒๐ ปี และติดตามเยี่ยมมารดาหลังคลอด  กิจกรรมนี้ไม่ใช้งบประมาณ
กิจกรรมที่ ๓ สร้างเสริมสุขภาพเด็กอายุ ๐-๕ ปี ให้มีสุขภาพดี ใช้งบประมาณ ๓,๘๕๐ บาท เป็นค่าใช้จ่ายค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าวิทยากร ค่าสาธิตอาหาร และค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า  เป็นโครงการที่ดี ส่งเสริมให้แม่และเด็กในชุมชนมีสุขภาพดี ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง และ สามารถให้ อสม.และแม่อาสามีความรู้สามารถดูแลสมาชิกในชุมชนได้
 มติที่ประชุม : อนุมัติ  
โครงการที่         โครงการคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในชุมชน
โครงการนี้ เป็นโครงการของทางศูนย์แพทย์ใกล้ใจ ๒ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จากการคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ของศูนย์แพทย์ใก้ลใจ ๒ ปี ๒๕๕๙ โดยมีกลุ่มเป้าหมายประชาชนอายุ ๓๕ ปี ขึ้นไป จำนวน ๒,๙๙๒ ราย ได้รับการคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง ๒,๓๔๘ ราย พบกลุ่มเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง ๘๓๗ ราย กลุ่มสงสัยรายใหม่ ๑๒๑ ราย  ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ๕๐ ราย คัดกรองโรคเบาหวาน ๑,๔๖๗ ราย พบกลุ่มเสี่ยง ๓๐๔ ราย ดังนั้นทางศูนย์แพทย์ใก้ลใจ ๒ แกนนำในชุมชนเขตรับผิดชอบมีมติร่วมกันในการดำเนินการคัดกรองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในชุมชน โดยมุ่งเน้นให้ประชาชน อสม. แกนนำและภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง รวมถึงมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อลดกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มสงสัยรายใหม่ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมาดำเนินกิจกรรมร่วมกันและสามารถขยายเป็นชุมชนต้นแบบต่อไป ดังนั้นทางศูนย์แพทย์ใกล้ใจ ๒ จึงได้จัดโครงการนี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายชุมชนละ ๑๐ ราย ทั้งหมด ๑๔ ชุมชน รวมเป็น ๑๔๐ ราย  ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน ๑๖,๓๒๐ บาท โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น ๓ กิจกรรม ดังนี้
๑.      คัดกรองความดันโลหิตสูง/โรคเบาหวานร่วมกับชุมชน ใช้งบประมาณ ๕๐๐ บาท เป็นค่าไวนิล
๒.      กิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงและติดตามผล ใช้งบประมาณ ๑๑,๒๕๐ บาท เป็นค่าใช้จ่ายอาหารว่างและเครื่องดื่ม ผู้เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และ ติดตามผลการปรับเปลี่ยน ๓ ครั้ง
๓.      สรุปผลการดำเนินงานและมอบเกียรติบัตร ใช้งบประมาณ ๘๒๐ บาท เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์
คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า  เป็นโครงการที่ดี ทำให้ประชาชนมีความรู้เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและได้รับการคัดกรองเบื้องต้น สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคอาหารในแต่ละวัน
 มติที่ประชุม : อนุมัติ  
โครงการที่         โครงการดูแลสุขภาพปากและฟันของผู้สูงอายุในชุมชน
โครงการนี้ เป็นโครงการของศูนย์แพทย์ใกล้ใจ ๒ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จัดขึ้นมาเพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพปากและฟันได้รับการตรวจรักษาทางทันตกรรม ให้ผู้สูงอายุได้รับความรู้และสามารถดูแลสุขภาพปากและฟันได้อย่างถูกต้อง เพราะช่องปากเป็นด่านแรกของระบบทางเดินอาหารของร่างกาย หน้าที่สำคัญ คือ การเคี้ยว กัด และกลืนอาหารส่งต่อภาวะโภชนาการการรวมถึงการได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จากการสำรวจสภาวะทันตกรรมสุขภาพในชุมชนพบว่า ปัญหาหลักของผู้สูงอายุได้แก่การสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหาร ส่วนผู้สูงอายุที่มีฟันมากกว่าครึ่งพบว่ามีปัญหาฟันผุและโรคปริทันต์ที่ยังไม่ได้รับการรักษา ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๐ ไม่เคยพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน เนื่องด้วยวัยที่สูงอายุและปัญหาด้านสุขภาพทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมได้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุที่ทีปัญหาสุขภาพปากและฟัน จำนวน ๑๔๐ ราย จากชุมชนเขตรับผิดชอบ ๑๔ ชุมชน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน ๔,๖๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าวิทยากร ค่าไวนิลประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า  เป็นโครงการที่ดี สามารถให้ผู้สูงอายุได้รับการเข้าถึงบริการทันตกรรม ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
มติที่ประชุม : อนุมัติ  

โครงการที่         โครงการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงในคลินิก

โครงการนี้ เป็นโครงการของทางศูนย์แพทย์ใกล้ใจ ๒ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จากการดำเนินงานในคลินิกโรคเรื้อรังของศูนย์แพทย์ใกล้ใจ ๒ ใน ๒ ปีย้อนหลัง พบว่ามีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี ๒๕๕๗ มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่รับการรักษาในคลินิก ๔๑๓ ราย โรคเบาหวาน ๑๔๕ ราย ปี ๒๕๕๘ มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ๔๗๙ ราย โรคเบาหวาน ๑๗๘ ราย   ดังนั้นทางศูนย์แพทย์ฯเห็นถึงความสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการมีส่วนร่วมในการดูแลตนเอง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตสูงและระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติและลดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานในคลีนีก ปี ๒๕๕๙ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน ๖,๕๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าน้ำดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ค่าวัสดุอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยที่มารับบริการในคลินิกศูนย์แพทย์ใกล้ใจ ๒ และค่าวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ
คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า  เป็นโครงการที่ดี  ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง/โรคเบาหวานมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถควบคุมโรค ไม่พบภาวะแทรกซ้อน
 มติที่ประชุม : อนุมัติ
โครงการที่         โครงการกายภาพบำบัดพบประชาชน เพื่อให้ความรู้และทักษะการดูแลสุขภาพตนเอง แก่ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
โครงการนี้ เป็นโครงการของทางกลุ่มงานกายภาพบำบัด โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จัดทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก มีความรู้และทักษะการดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อให้บริการทางกายภาพบำบัดแก่ประชาชน กายภาพบำบัดมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพชุมชน ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันการรักษาโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อสุขภาวะของประชาชน ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่สามารถให้บริการกายภาพบำบัดได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากบุคลากรที่มีจำกัด การให้ความรู้และทักษะเรื่องการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องทางกายภาพบำบัด จะทำให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวให้มีสุขภาพดี เป็นการลดภาระของสังคมด้านการรักษาพยาบาล ทางงานกายภาพบำบัดได้ตระหนักถึงความสำคัญในการขยายขอบข่ายงานและความรู้ทางกายภาพบำบัดให้ครอบคลุมถึงระดับชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จำนวน ๑๐๐ คน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน ๑๔,๒๗๖ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าวิทยากร ค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นในโครงการ
คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า  เป็นโครงการที่ดี  ประชาชนในเขตเทศบาลฯมีความรู้และทักษะการดูแลตนเอง ด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด

 มติที่ประชุม : อนุมัติ                                                                                                                                  
โครงการที่         โครงการพัฒนาศักยภาพ อสม.และผู้นำชุมชนในการเป็นแกนนำการออกกำลังกายของผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
โครงการนี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการของกลุ่มงานกายภาพบำบัด โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม.ถือได้ว่าเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีบทบาทในการดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดย อสม.จะได้รับความรู้ผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้จากบุคลากรทางสาธารณสุข การพัฒนาสุขภาพต้องพัฒนาไปพร้อมๆกับพัฒนาด้านอื่นๆด้วย ดังนั้น อสม.จึงต้องเพิ่มบทบาท ความรับผิดชอบ และพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถให้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่กำลังจะเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า ภาวะประชากรผู้สูงอายุ อสม.จึงควรจะต้องมีความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุในเบื้องต้น โดยมีกลุ่มเป้าหมาย อสม.และผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จำนวน ๑๐๐ คน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน ๑๕,๖๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าอาหารกลางวัน ค่าวิทยากร และค่าวัสดุต่างๆ
คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า  เป็นโครงการที่ดี  สามารถพัฒนาศักยภาพของ อสม.และแกนนำในชุมชนมีความรู้และทักษะในการออกกำลังกายของผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้
 มติที่ประชุม : อนุมัติ  
โครงการที่  ๑๐    โครงการอบรมเข้าค่ายเยาวชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและห่างไกลยาเสพติดและอบายมุข
โครงการนี้ เป็นโครงการของทางชุมชนเจริญสุข จัดขึ้นมาเพื่อให้เยาวชนได้รับรู้ถึงโทษ และพิษภัยของสารเสพติด ให้เยาวชนมีความรู้ในการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ลดปัญหา สังคม ครอบครัว ไม่มั่วสุมกับยาเสพติด ปัจจุบันปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาทางสังคม ซึ่งนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น เป็นปัญหาระดับชาติ ถึงแม้จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบป้องกันและปราบปรามก็ตาม ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดสิ้น ดังนั้นทางชุมชนเจริญสุขได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จัดกิจกรรมอบรมเยาวชนในช่วงปิดเทอม เพื่อลดการไปมั่วสุมกับสารเสพติดและสิ่งอบายมุข ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างโอกาสให้เยาวชนได้ทำความดีเพื่อสังคมและส่วนรวม มีการจัดกิจกรรม ๒ วัน ๑ คืน โดยเชิญทีมวิทยากรจากญาลานันบารู เป็นวิทยากรมาบรรยายเกี่ยวกับพิษภัยของสารเสพติดต่างๆ เป้าหมายเป็นเยาวชนในชุมชนอายุ ๑๐ -๑๕ ปี จำนวน  ๕๖ คน  ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน ๓๑,๘๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าอาหารกลางวัน ค่าวิทยากร ค่าป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ และค่าวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า  เป็นโครงการที่ดี  สามารถให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในช่วงปิดเทอม หันมาออกกำลังกายไม่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและสิ่งอบายมุขต่างๆ และความรู้เพิ่มขึ้นจากการอบรม
มติที่ประชุม : อนุมัติและควรปรับลดค่าวิทยากรให้เป็นการเหมาจ่ายทั้งวัน เพราะถ้าคิดเป็น ชม.เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงและให้ปรับในเรื่องผู้รับผิดชอบโครงการจากกองทุนแม่ของแผ่นดินเป็นกลุ่มเยาวชน ชุมชนเจริญสุข แทน



โครงการที่  ๑๑    โครงการรักและห่วงใยใส่ใจผู้สูงอายุ สุขภาพดีมีความสุข ชุมชนไม่ทอดทิ้งกัน ปี ๒๕๕๙
โครงการนี้ เป็นโครงการของชมรม อสม.เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ซึ่งจัดมาทุกปี ปีนี้เป็นปีที่ ๖ ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง และบริโภคอาหารอย่างถูกหลัก ให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี แข็งแรง ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่เป็นอยู่ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จากการดำเนินงานกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในปีที่ผ่านมา ก็ได้รับการตอบรับจากชุมชนต่างๆที่เข้าร่วมกิจกรรม ผู้สูงอายุพึงพอใจและมีความสุข รู้สึกตนเองมีคุณค่าไม่เป็นภาระต่อสังคม ในปีนี้ชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมมี ๑๕ ชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ จำนวน ๗๒๑ คน จาก ๑๕ ชุมชน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ ๑๔๗,๙๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่าอาหารว่าง ค่าอาหารกลางวัน ค่าอุปกรณ์สาธิตการออกกำลังกาย และค่าเอกสารต่างๆ
คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่า  เป็นโครงการที่ดี  และเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนโดยบูรณาการกับกิจกรรมวันสงกรานต์
มติที่ประชุม : อนุมัติ  
ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องเพื่อติดตาม
เรื่องที่ ๑  : รายงานผลการดำเนินงานของอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ
            ๑.คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำแผนฯ :  ไม่มีเรื่องแจ้ง
            ๒.คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขาและธุรการ : ในปี ๒๕๕๙ ทางเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ได้โอนเงินสมทบเข้ากองทุนฯ แล้ว จำนวน ๑,๑๒๔,๑๙๙ บาท และเงินสมทบจาก  สปสช.  ๑,๘๖๗,๒๓๐  บาท  
            ๓.คณะอนุกรรมการฝ่ายการเงินและบัญชี     โครงการรักและห่วงใยใส่ใจผู้สูงอายุฯในปี ๒๕๕๘ ชุมชนหัวกุญแจยังค้างส่งหลักฐานการใช้เงิน
            ๔.คณะอนุกรรมการฝ่ายประเมินและติดตาม :  ไม่มีเรื่องแจ้ง
เรื่องที่ ๒ : กองทุนดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง  ( LTC )
            สิ่งที่ได้ดำเนินการแล้วคือ
๑.การส่งรายชื่อผู้สูงอายุพี่งพิง ( กลุ่มติดบ้าน  ติดเตียง ) สิทธิ์บัตรทอง ตามเกณฑ์ที่สปสช.กำหนด จำนวน ๒๒ คน ส่งให้สปสช.ภายใน ๑๕ ก.พ.๕๙
            ๒.ได้ดำเนินการเปิดบัญชีรองรับงบประมาณในการดำเนินงานผู้สูงอายุพึ่งพิงชื่อบัญชีกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เพื่อการดูแลผู้สูงอายุพึ่งพิง
            ๓.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดูแลผู้สูงอายุพึ่งพิง ขออนุมัติที่ประชุมขอตัวแทนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จำนวน ๒ คน เพื่อเป็นอนุกรรมการ ฯ  ที่ประชุมเสนอชื่อ  คุณวัชริศ  เจ๊ะเลาะ และคุณยามิงละห์   มะ  
ระเบียบวาระที่  ๖ เรื่องอื่นๆ
๑.ท่านปลัดเทศบาลฯ แจ้งโครงการที่สปสช.ให้พิจารณาดำเนินการได้เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่ คือ โครงการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายแก่เยาวชนมุสลิม  โดยมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ไม่เกิน ๘๐๐ บาท  และมอบให้งานศูนย์บริการสาธารณสุข กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม  เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก  เป็นเจ้าภาพจัดโครงการนี้ โดยให้ประสานรายละเอียดโครงการกับสำนักการศึกษา ฯ
๒. สรุปผลการตรวจเยี่ยมของคณะผู้นิเทศ ตำบลจัดการสุขภาพ ๕ กลุ่มวัยแบบบูรณาการ  ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข    ตัวแทนสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส   รวม ๕ ท่าน 
 ปิดการประชุม  ๑๒.๐๐ น.
                                                นางปะอีซะห์    มะฮามะรีเป็น           บันทึกและพิมพ์รายงานการประชุม
นางตันจุรีย์       ไชยลาภ                 ตรวจทานและแก้ไข