วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมาของเมืองสุไหงโก-ลก


ประวัติความเป็นมาของเมืองสุไหงโก-ลก
เมืองแต่ละเมืองล้วนมีอดีต มีประวัติความเป็นมาของเมือง การรับรู้อดีตทำให้เราได้รับรู้ถึงความเป็นมาของตัวเราเอง และเพื่อบันทึกประวัติความเป็นมาของเมืองสุไหงโก-ลก มิให้สูญหายไปจากความทรงจำของคนสุไหงโก-ลก ในยุคปัจจุบัน จึงขอนำข้อเขียนของนายวงศ์ ไชยสุวรรณ์ ซึ่งได้เขียนประวัติความเป็นมาของตำบลสุไหงโก-ลก และได้มีการตีพิมพ์ไว้เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๙๓ มานำเสนอไว้ ณ ที่นี้
อันดับแรกขอนำเสนอประวัติของนายวงศ์ ไชยสุวรรณ์ ที่เจ้าตัวได้บันทึกไว้ดังนี้
๑.เป็นครูโรงเรียนวัดตานีนรสโมสร จังหวัดปัตตานี
๒.เป็นเสมียนชั้น ๑ มหาดไทย อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
๓.เป็นกำนัน ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
๔.เป็นกำนันตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
๕.เป็นกำนันตำบลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
๖.เป็นผู้แทนตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
๗.เป็นสมาชิกสภาจังหวัดนราธิวาส ๕ สมัย ๒๐ ปี
๘.เป็นประธานสภาจังหวัดนราธิวาส ๒๓ สมัย
๙.เป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก ๒๗ ปี
๑๐.เป็นนายกเทศมนตรีตำบลสุไหงโก-ลก ๕ สมัย
๑๑.เป็นประธานสภาเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ๑๑ สมัย
๑๒.เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ๑ สมัย
ตำบลสุไหงโก-ลก สภาพเดิมอันแท้จริงแต่เดิมมาเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ประชาชนเรียกกันว่าป่าจันตุหลี อาณาเขตป่านี้
- ทางทิศเหนือจดตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงปาดี ส่วนยาว ๖ กิโลเมตร
- ทางทิศใต้จดตำบลกายูคละ อำเภอแว้ง ส่วนยาว ๖ กิโลเมตร
- ทางทิศตะวันออกจดคลองสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นแนวเขตติดต่อกับรัฐกลันตัน กว้าง ๓ กิโลเมตร
- ทางทิศตะวันตกจดตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี กว้าง ๓ กิโลเมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า คำนวณพื้นที่ได้ ๑๘ ตารางกิโลเมตร ที่ดินป่าในอาณาเขตที่กล่าวนี้ตั้งอยู่ในตำบลปูโยะอำเภอสุไหงปาดี หาได้มีบ้านเรือนราษฎรอาศัยอยู่ไม่
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ทางรัฐบาลไก้กรุยทางรถไฟสายใต้ผ่านเข้ามาในเขตป่าจันตุหลี จดคลองสุไหงโก-ลก เพื่อจะเชื่อมทางรถไฟสยามติดต่อกับรถไฟสหรัฐมาลายู ณ ที่แม่น้ำสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นพรหมแดนระหว่างประเทศสยามกับรัฐกลันตัน (ของอังกฤษ) กรมรถไฟได้กะที่ตั้งสถานีรถไฟลงในบริเวณป่านี้ ราษฎรตำบลปูโยะที่มีความเฉลียวฉลาด ก็พากันมาจับจองที่ดินป่าจันตุหลีเอาไว้ บางคนก็ทำการโก่นสร้างทำสวนยางพารารัปเบอร์ บางก็ถือกรรมสิทธิ์หวงเอาไว้เฉยๆ หาได้ทำประโยชน์แต่อย่างใดไม่ ที่ป่ารกร้างว่างเปล่าเกิดมีเจ้าของหวงห้ามขึ้น
ครั้นต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๔ รัฐบาลได้เปิดเดินรถไฟมาถึงสถานีสุไหงโก-ลก ที่ดินใกล้สถานีรถไฟก็ยังคงเป็นป่าอยู่บ้างและมีเจ้าของหวงห้ามเอาไว้บ้าง ส่วนที่ดินที่เจ้าของหวงห้ามเล่า ก็หาได้ทำประโยชน์ขึ้น ปล่อยให้เป็นป่ารกร้างอยู่เช่นเดิม ในขณะที่ทางฝั่งคลองสุไหงโก-ลก ทิศตะวันออก มีชนบทรันตูปันยังในเขตรัฐกลันตัน เป็นชนบทที่ประชาชนอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น มีอาคารบ้านเรือนร้านค้าเป็นปึกแผ่นเป็นที่ชุมชนในแหล่งการค้าประชาชนในตำบลปูโยะ มีสินค้าจะซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินหรือจะซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ก้ต้องข้ามไปซื้อหาที่สถานีรถไฟรันตูปันยัง (ฝั่งทางรัฐกลันตัน) เพราะในสมัยนั้น มีตลอดอยู่เฉพาะที่รันตูปันยังแห่งเดียว การนำของเข้าออกก็ต้องเสียภาษีทั้งสองฝ่าย คือทางฝ่ายสยามและฝ่ายกลันตัน จึงไม่เป็นการสะดวกแก่ประชาชนชาวสยาม การหาเลี้ยงชีพในทางค้าขายของราษฎรในตำบลปูโยะ ไม่ได้รับความเจริญ ไม่ทำให้เกิดการสมบูรณ์พูลสุขขึ้นได้ เพราะต้องอาศัยตลาดของทางฝั่งต่างประเทศเป็นที่ทำการซื้อขาย
ใน พ.ศ.๒๔๖๘ ข้าพเจ้าได้มาตั้งร้านค้าอยู่ในที่ดินของนายอาฉ่ำ หลังสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ที่ดินรายนี้ในเวลานั้นมีบ้านเรือนของผู้อื่นมาตั้งอยู่ด้วย มีจำนวน ๖ หลังคาเรือน คือ นายหวัง สมัครกิจ นายฮวด เจียตระกูล นายหลีหลง นายฝ่าช่อง นายชั้ว อามิ่ง นายเจ๊ะหมัด สาเระ รวม ๗ หลังคาเรือนทั้งข้าพเจ้า เป็นผู้มาตั้งภูมิลำเนาและเปิดทำการค้าขายอยู่ในครั้งแรก ส่วนนอกจากนี้แล้วก็ยังเป็นป่ารกร้างว่างเปล่าหาได้มีบ้านเรือนผู้อื่นอีกไม่
ครั้นต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๒ นายจัน โฉมอุทัย ซึ่งเป็นกำนันตำบลปูโยะ ถึงแก่กรรมลง กำนันในตำบลนี้ว่าง จะหาตัวผู้เป็นกำนันปกครองตำบลปูโยะต่อไปไม่ได้ คณะกรรมการอำเภอสุไหงปาดี ได้พยายามมาอ้อนวอนข้าพเจ้า ให้ช่วยรับหน้าที่เป็นกำนันในตำบลนี้หลายครั้งหลายคราว พร้อมทั้งราษฎรในตำบลนี้ด้วยที่พากันมาอ้อนวอนขอให้ข้าพเจ้ารับหน้าที่เป็นกำนัน ข้าพเจ้าเสียการอ้อนวอนของราษฎรไม่ได้จำเป็นยอมรับเป็นกำนันปกครองตำบลปูโยะในปลายปี พ.ศ.นี้ เมื่อข้าพเจ้ารับหน้าที่เป็นกำนันมาได้ประมาณ ๖ เดือน ข้าพเจ้ามาคิดดูว่า เมื่อเรารับหน้าที่เขาเช่นนี้แล้วก็เท่ากับเรารับภาระอาสาพลเมือง ที่จะช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรก่อให้เกิดความสุขสำราญ ให้ราษฎรมีที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ จะต้องบำรุงให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ จึงจะได้ขึ้นชื่อว่าได้ทำ ประโยชน์ให้กับราษฎรอันแท้จริง
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ข้าพเจ้าจึงมาคิดว่าที่ดินป่าใกล้สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ทิศใต้ที่ดินในตอนนี้เป็นป่ารกร้างว่างเปล่าอยู่มาก ถ้าทำการแผ้วถางป่าปราบที่ดินให้ราบเตียนแล้วจะสร้างขึ้นเป็นชนบท สร้างเป็นตลาดทำให้เกิดเป็นชุมชนขึ้นได้ คงจะมีผู้มาอยู่เป็นแน่ แต่การที่จะทำการโก่นสร้างป่าแก่ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ขนาดโตเท่ากับ ๒-๓ คนโอบให้ราบเตียนได้ จะต้องลงทุนค่าแรงจ้างตั้งหลายร้อยบาท หากลงทุนโก่นสร้างราบเตียนลงไปแล้วไม่มีคนมาอยู่ ก็ไม่เกิดความเจริญขึ้นก็จะต้องขาดทุนเปล่า จึงเกิดความลังเลใจว่าควรจะทำดีหรือไม่ควรจะทำ ความคิดเกิดเป็นสองฝักสองฝ่าย ข้าพเจ้าจึงได้นำแผนผังโครงการ ที่จะทำการสร้างชนบทสุไหงโก-ลก ในตำบลปูโยะนี้ ไปหาพระศรีสุทัศน์ ข้าหลวงประจำจังหวัดนราธิวาสสมัยนั้นเรียนวัตถุประสงค์ที่ข้าพเจ้าคิดการสร้างชนบท และตลาดดังกล่าวมาแล้วแต่ข้างต้นนั้น ให้ข้าหลวงทราบข้าหลวงได้ดูแผนผังและโครงการของข้าพเจ้าแล้วหัวเราะเยาะ ตอบกับข้าพเจ้าโดยประณามว่า ความคิดบ้าๆที่แกจะปราบที่ดินป่าแก่สร้างเป็นเมืองขึ้นนี้ ผีอะไรจะมาอยู่กับแก(พูดตามความจริง) ข้าพเจ้าจึงนำโครงการและแผนผังอันนั้นมาปรึกษากับเพื่อนฝูง และผู้มีชื่ออีกหลายท่าน คงได้รับความคิดเห็น อย่างประณามว่า ข้าพเจ้าเป็นบ้าแทบทุกคน โดยที่ข้าพเจ้าคิดทำการในสิ่งที่ยังไม่มีใครเขาเคยคิดกันขึ้นเลยเช่นนี้ กระทำให้ข้าพเจ้าเกิดการท้อใจโดยมาคำนึงถึงตำพูดคนส่วนมาก ซึ่งข้าพเจ้าไปพูดคุยให้เขาฟังในเรื่องจะทำการโก่นสร้างป่านี้ สร้างเป็นชนบทขึ้น ข้าพเจ้าไปพูด ณ ที่ใด คนผู้ฟังส่วนมากพากันเหมาว่าข้าพเจ้าเป็นบ้า พากันล้อเลียนเยาะเย้ยข้าพเจ้าต่างๆนาๆ ข้าพเจ้ามานึกว่าความคิดข้าพเจ้านี้ คนส่วนมากเขาเห็นว่าเป็นความคิดบ้าๆ ข้าพเจ้าชักไม่ไว้ใจตนเอง กลัวว่าจะเป็นบ้าไปจริงๆก็ได้ เกือบจะหมดความมานะในการที่จะสร้างชนบทนี้ขึ้นเสียแล้ว แต่บังเอิญซึ่งผลสำเร็จจะบังเกิดให้บรรลุไปตามจุดที่หมายของข้าพเจ้า ก็มีนายนกั่น สามนกฤษณะ นายเจ๊ะ หมัดสาเระ นายเจ๊ะอุเซ็ง นายหวันยายอ นายอาแว บือชาเจ้าของที่ดินบริเวณป่าจันตุหลีนี้ เห็นว่าโครงการและแผนผังของข้าพเจ้าที่คิดขึ้นนี้ เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ดี ถ้าคิดสร้างบรรลุผลสำเร็จแล้วจะทำประโยชน์ให้กับประชาชนตำบลนี้เป็นอันมาก เขาจึงได้รวบรวมเงินก้อนหนึ่ง เป็นจำนวน ๕๐๐ บาท (ในสมัยนั้นเงินห้าร้อยบาท เป็นเงินมีค่ามากมาย) มามอบให้ข้าพเจ้าพร้อมทั้งมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ข้าพเจ้าจัดการถางป่า และปราบที่ดิน วางแผนผังตามโครงการที่ข้าพเจ้าคิดนั้นได้ทุกประการ ในตอนนี้ข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจขึ้นบ้างว่า ความคิดของข้าพเจ้านี้ ข้าพเจ้าไม่เป็นบ้าแต่คนเดียวแล้ว มีคนมาพลอยร่วมเป็นบ้าด้วยตั้ง ๕ คน ข้าพเจ้าได้จัดการถางป่าและทำการปราบดินราบเตียนแล้ว ลงมือตัดถนนในบริเวณเนื้อที่ดินที่ทำการปราบนั้น เป็นเนื้อที่ ๑,๒๒๕ ไร่ ได้ตัดถนนตามแผนผังรวม ๓๑ สาย สายที่ ๑ ให้ชื่อว่าถนนเจริญเขต สายที่ ๒ ให้ชื่อว่าถนนเทศปฐม สายที่ ๓ ให้ชื่อว่าถนนสฤษดิ์ สายที่ ๔ ให้ชื่อถนนชื่นมรรคา สายที่ ๕ ให้ชื่อถนนวรคามินทร์ สายที่ ๖ ให้ชื่อถนนไชยสุวรรณ์ดำรง สายที่ ๗ ให้ชื่อถนนวงค์วิถี สายที่ ๘ ให้ชื่อถนนประชาสำราญ สายที่ ๙ ให้ชื่อถนนประชาลีลาศ สายที่ ๑๐ ให้ชื่อถนนชลธารเขต สายที่ ๑๑ ให้ชื่อถนนประเวศน์ชลธี สายที่ ๑๒ ให้ชื่อถนนวิถีอุทก สายที่ ๑๓ให้ชื่อถนนประชาวิวัฒน์ สายที่ ๑๔ ให้ชื่อถนนบุษยพันธ ์ สายที่ ๑๕ ให้ชื่อถนนปฏิมา สายที่ ๑๖ ให้ชื่อถนนอารีฟมรรคา สายที่ ๑๗ ให้ชื่อถนนวามันอำนวย สายที่ ๑๘ ให้ชื่อถนนวงศ์วิวัฒน์ สายที่ ๑๙ ให้ชื่อถนนวงศ์ประดิษฐ์ สายที่ ๒๐ ตัดในที่ดินหลังสถานีรถไฟไปยังสะพานเหล็กข้ามคลองสุไหงโก-ลก ให้ชื่อว่าถนนรถไฟสายที่ ๒๑ ตัดจากรางรถไฟตำบลปาเสมัส สายที่ ๒๒ สายหน้าที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก และหน้าสำนักงานเทศบาลในสมัยปัจจุบันนี้ สายที่ ๒๓ ตัดจากรางรถไฟหน้าสถานีสุไหงโก-ลก ไปยังวัดชลเฉลิมเขต ไปด้านหลังที่ว่าการอำเภอไปตำบลปาเสมัส ตำบลปูโยะ สายที่ ๒๕ ตัดจากรางรถไฟผ่านบ้านกาบารูไปต่อกับถนนในตำบลปาเสมัส ตำบลปูโยะ สายที่ ๒๖ ตัดต่อจากถนนชื่นมรรคาผ่านหน้าสถานีตำรวจสุไหงโก-ลก ไปยังฝั่งคลองสุไหงโก-ลก สายที่ ๒๗ เข้าไปยังศาลเจ้าแม่ม้าโพ่ อีก ๔ สาย เป็นถนนสายสั้นๆอยู่ในบริเวณตลาดสุไหงโก-ลก และการสร้างถนนทั้งหมดนี้ จ้างเหมาทำเป็นสายๆค่าจ้างเหมาตั้งแต่สายละ๖-๗-๘ บาท ราคาสูงสุดถึงสายละ ๑๒ บาท โดยราคาเงินในสมัยนั้นค่าน้ำเงินสูง ถ้าเทียบเงินสมัยปัจจุบันนี้เงิน ๑ บาทสมัยนั้น เท่ากับจำนวน ๕๐๐ บาท ในสมัยปัจจุบันนี้ (ปี พ.ศ.๒๔๙๓ ) ประชาชนพลเมืองในสมัยนั้น ต้องเสียเงินรัชชูปการให้กับรัฐบาลปีละ ๓ บาท นับเวลาเป็นปีๆ ราษฎรยังหาเงินจำนวน ๓ บาทไปชำระค่ารัชชูปการให้รัฐบาลไม่ได้ ถึงกับต้องจับกุมเอาตัวมาทำงานโยธาคนละ ๑ เดือน ใช้แรงงานแทนเงินแล้วรัฐบาลเสียเงินค่ารัชชูปการทั้งค่าปรับแก ๓ บาท เป็นเงิน ๖ บาทให้ เมื่อสร้างถนนเป็นสายๆและพร้อมทั้งปราบที่ดินราบเตียนเรียบร้อยแล้วข้าพเจ้าได้ลงทุนสร้างตลาดสด ๑ หลัง ในศูนย์กลางเนื้อที่ดินนี้ โดยเงินลงทุนของข้าพเจ้าเอง เสร็จการสร้างตลาดสดเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าพยายามไปตามหมู่บ้านในตำบลนี้ มีหมู่บ้าน ๑๒ หมู่บ้านข้าพเจ้าประชุมราษฎรพยายามชี้แจงการทำมาหาเลี้ยงชีพ แนะนำในการค้าขาย ให้ราษฎรช่วยกันหาสินค้านำไปนั่งขายที่ตลาดที่ข้าพเจ้าปลูกเอาไว้นั้น และแนะนำการปลูกพืชผลต่างๆเมื่อทำการเพาะปลูกได้ผลแล้วให้นำไปซื้อขายในตลาดนี้ ข้าพเจ้าพยายามชักชวนและทำการแนะนำอยู่เสมอๆ และพยายามทำการล่อน้ำใจเช่นในวันเสาร์ อาทิตย์ จัดให้มีตลาดนัดขึ้น ส่วนเวลากลางคืนหามหรสพพื้นเมืองมาแสดงประชันกัน เป็นการรื่นเริงสัปดาห์และครั้ง กระทำอยู่เช่นนี้ประมารปีเศษ ก็มีประชาชนมานั่งซื้อขายกันอยู่พอสมควร ข้าพเจ้าได้แนะนำชักจูงเจ้าของที่ดินบริเวณนี้ ซึ่งกล่าวมานานแล้วแต่ข้างต้นนั้นให้ปลูกเรือนห้องแถวขึ้นเจ้าของละ ๒-๓ ห้องก่อน และให้ตัดเนื้อดินแบ่งขายให้กับผู้อื่นบ้าง โดยราคาย่อมเยาเพื่อเป็นการล่อให้คนมาอยู่กันเป็นหลักแหล่งกันขึ้น และค่าที่ดินนั้นให้ผู้ซื้อผ่อนชำระเงินเป็นรายเดือน เจ้าของที่ดินก็เชื่อถือได้จัดการปลูกสร้างห้องแถว และขายที่ดินตามคำแนะนำของข้าพเจ้า ราคาที่ดินสมัยนั้นขายกันห้องละ ๒๐-๓๐ บาท และผ่อนให้เงินค่าที่ดินเป็นรายเดือนๆละ ๕๐ สตางค์บ้าง เดือนละ ๑ บาท บ้าง แต่มีข้อสัญญาเอาไว้ว่า ผู้ใดซื้อแล้วในกำหนด ๑ เดือน ไม่ทำการปลูกห้องแถวขึ้น เจ้าของที่ดินกลับเอาคืนเอาไปขายให้ผู้อื่นต่อไปใหม่ จึงมีผู้มาซื้อที่ดินและปลูกห้องแถวขึ้นมากเป็นลำดับ
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๗๔ ในเนื้อที่ตามบริเวณขอบเขตที่ปราบเอาไว้นี้ ก็บังเกิดเป็นบ้านเรือนห้องแถวมากขึ้น และตลาดที่ปลูกไว้นั้นก็มีประชาชนมานั่งซื้อขายกันเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ส่วนร้านที่นั่งขายบริเวณตลาดสดข้าพเจ้ามิได้เก็บเงินเลย ให้นั่งขายฟรีเป็นเวลา ๓ ปี ข้าพเจ้าก็ยังไม่ละความพยายามได้เที่ยวชักชวนพ่อค้าคหบดีในท้องถิ่นต่างๆ และชักชวนพ่อค้าในต่างประเทศใกล้เคียงบ้าง ให้มาซื้อที่ดินปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนค้าขายในที่นี้ และโฆษณาชวนเชื่อว่าจะดำเนินนโยบาย จะขออนุญาตต่อรัฐบาลตั้งบ่อนชนโค กระบือขึ้น และจะทำถนนขากชนบทนี้ไปยังท้องที่อำเภอตากใบ ทำถนนจากชนบทสุไหงโก-ลก ไปยังที่ว่าการอำเภอสุไหงปาดี ทำถนนไปยังอำเภอแว้ง และจะทำการขุดคลองจากแม่น้ำสุไหงโก-ลก ให้เรือเข้ามาจอดได้ถึงหน้าสถานีตำรวจสุไหงโก-ลก และจะทำการสร้างวัดพุทธขึ้นสัก ๑ แห่ง จะจัดสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นสัก ๑ โรงเรียน ให้กุลบุตรกุลธิดาได้รับการศึกษาอบรมทัดเทียมกับชนบทอื่น แต่สมัยนั้นเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช นโยบายและโครงการของข้าพเจ้าที่จะกระทำขึ้นนั้น ไม่บรรลุผลสมประสงค์ดังจุดที่หมายในบางสิ่งบางอย่าง ถูกผู้มีอำนาจเหนือกดเอาไว้ เกรงว่าข้าพเจ้าจะเกิดมีอิทธิพลมากไป การขออนุญาตตั้งบ่อนชนโคกระบือ การขออนุญาตตัดถนน ๓ สายนี้ และการขออนุญาตขุดคลองข้าหลวงประจำจังหวัดไม่อนุญาต คงได้กระทำแต่ปลูกสร้างโรงเรียนชั่วคราวขึ้น ๑ หลัง โดยทุนของข้าพเจ้า สร้างเสร็จแล้วขอครูมาประจำ ๒ นาย เป็นประวัติการณ์ที่มีโรงเรียนขึ้นครั้งแรกในตำบลสุไหงโก-ลก ข้าพเจ้าเป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้นมา ส่วนการสร้างวัดพุทธในปีนี้ ทำแต่เฉพาะชักชวนราษฎรคนไทยแผ้วถางป่า ขุดต่อ ปราบที่ดินการถางป่ากว่าจะเสร็จเรียบร้อยเป็นเวลา ๕ เดือน สิ้นปี พ.ศ.นี้
ครั้นต่อมา พ.ศ.๒๔๗๕ ข้าพเจ้าได้ชักชวนราษฎรบอกบุญเรี่ยไรเงินคิดสร้างกุฎิขึ้น ๕ หลัง สร้างศาลาโรงธรรมขึ้น ๑ หลัง สร้างโรงครัวขึ้น ๑ หลัง สร้างบ่อน้ำขึ้น ๑ บ่อ และนิมนต์พระสงฆ์ในรัฐกลันตันเข้ามาอยู่เป็นครั้งแรก ๑๑ รูป แต่ในครั้งนั้นในชนบทนี้คนไทยโดยมากไม่ค่อยได้รับการศึกษาอบรมในการที่จะบำเพ็ญกุศลตามกรณียกิจในทางศาสนา ก็ไม่ใคร่จะทำบุญใส่บาตรกัน ข้าพเจ้าต้องเดินออกไปตามหมู่บ้านประชุมราษฎร แสดงปาฐกถาเรื่องบุญบาป ชักชวนจูงน้ำใจให้เกิดความเลื่อมใส บางหมู่บ้านถึงกับต้องบังคับให้หุงข้าวใส่บาตรทุกๆวัน บางเรือนในเวลาเช้าๆข้าพเจ้าต้องไปบังคับหุงข้าว หุงแล้วข้าพเจ้าจะช่วยใส่บาตรให้เอง กระทำอยู่เช่นนี้เป็นเวลาหลายเดือน ประชาชนในตำบลนี้จะเนื่องมาจากที่เกิดความรำคาญข้าพเจ้าซึ่งรบกวนเขาอยู่เสมอๆ ในเรื่องที่บังคับให้ทำการกุศลนั้น หรือเขาเกิดความเลื่อมใสศรัทธาขึ้นมาเองก็หาทราบไม่ ต่อๆมาก็ได้เห็นประชาชนในตำบลนี้ ขยันขันแข็งเคร่งครัดในการทำบุญให้ทานมากขึ้น วัดก็ได้ตั้งถาวรมั่นคง จึงให้ชื่อวัดนี้ว่า วัดชลเฉลิมเขต มาจนถึงบัดนี้ และปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าได้จัดตั้งโรงเรียนนักธรรมขึ้น เพื่อให้คณะสงฆ์ได้รับการศึกษาโดยเรี่ยไรจ้างครูสอนประจำอยู่จนบัดนี้
ตำบลปูโยะนี้มีพลเมืองอยู่เดิม ตามสำมะโนครัวจำนวน ๕,๘๐๐ คน และภูมิประเทศของตำบลนี้กว้างขวางมีที่ดินสำหรับทำนาและทำสวนมาก แต่ราษฎรไม่ค่อยเอาใจใส่ในการเพาะปลูก ทั้งบางแห่งเนื้อที่เป็นที่ลุ่มน้ำ ทำนาไม่ค่อยได้ผล เพราะไม่มีคูระบายน้ำไปสู่ลำคลอง ข้าพเจ้าได้ออกไปตามหมู่บ้านประชุมราษฎร แนะนำในการเพาะปลูกพืชผลและเลี้ยงปศุสัตว์ บังคับให้ราษฎรในครัวเรือนหนึ่งๆให้ปลูกตะไคร้ ๕ กอ ปลูกข่า ๕ กอ ปลูกพลู ๕ ค้าง ปลูกกล้วย ๕ กอ ปลูกหมาก ๕ ต้น ปลูกมะพร้าว ๕ ต้น ปลูกมะเขือ ๕ ต้น เลี้ยงไก่ ๕ แม่ เลี้ยงเป็ด ๕ แม่ สำหรับได้รับประทานในครัวเรือนของตนโดยไม่ต้องวิ่งไปหาขอผู้อื่น แต่ถ้าใครไม่ทำข้าพเจ้าจะเอาโทษ ราษฎรก็พากันกระทำตาม โดยความเกรงกลัวข้าพเจ้า แต่ภายหลังปรากฏว่าผลที่ข้าพเจ้าบังคับให้กระทำนั้น บังเกิดผลขึ้นกับเขาทุกๆคน เพราะของที่พวกเขาปลูกไว้นั้น เหลือจากรับประทานขายได้ ส่วนพื้นดินที่ว่างเปล่าซึ่งเป็นที่ลุ่มเหมาะในการทำนาข้าว แต่ไม่มีคูระบายน้ำออกไปลำคลอง ถึงฤดูฝนน้ำท่วมขังยู่นานๆต้นข้าวที่ราษฎรปักดำไว้เกิดเสียหายไม่ได้รับผลเสมอๆทุกๆปี นั้น ข้าพเจ้าได้ชักชวนราษฎรทุกหมู่บ้าน พร้อมกันขุดคูระบายน้ำให้ไหลออกไปยังคลองสุไหงโก-ลก เป็นระยะคูน้ำยาว๒,๗๐๐ วาเศษ น้ำที่ติดขังอยู่ได้ระบายจนแห้ง ราษฎรทำนาได้ข้าว เป็นผลสมประสงค์ทุกๆปีมาจนถึงบัดนี้ตำบลนี้สภาพเป็นตำบลใหญ่ มีหมู่บ้านถึง ๑๒ หมู่บ้าน แต่การคมนาคมไปมาหากันในตำบลไม่สะดวก ข้าพเจ้าได้ชักชวนผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรช่วยกันทำถนนขึ้นให้ติดต่อกันทุกๆหมู่บ้านไปมาหากันได้สะดวกจนได้ใช้รถจักรยานยนต์ผ่านไปมาหากันได้ และเป็นถนนถาวรปรากฏอยู่แก่ตำบลปูโยะ ตำบลปาเสมัสในปัจจุบันนี้
ในตำบลนี้ ราษฎรเป็นคนไทยอิสลามเป็นจำนวนมาก แต่การปฏิบัติตามลัทธิศาสนาของเขาไม่ค่อยจะเอาใจใส่ ข้าพเจ้าได้ช่วยแนะนำสั่งสอนในทางศาสนาอิสลามและชักชวนให้ปลูกสร้างสุเหร่าขึ้นทุกๆหมู่บ้าน โดยข้าพเจ้าออกเงินส่วนตัวของข้าพเจ้าเองสร้างให้บ้าง ทุนเงินเรี่ยไรปลูกสร้างให้บ้าง ทุกๆวันศุกร์ข้าพเจ้าได้ออกตรวจตามสุเหร่าที่ได้สร้างขึ้นนี้ เรียกร้องให้คนไทยอิสลามมาทำการละหมาดตามลัทธิศาสนา สุเหร่าของคนไทยอิสลามที่ข้าพเจ้าริเริ่มสร้างให้นั้น ชนชาวอิสลามได้พร้อมกันพัฒนาเป็นมัสยิดที่สวยงามขึ้นมาเป็นประวัติการณ์ อยู่ในขณะนี้
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ข้าพเจ้าได้ชักชวนผู้ใหญ่บ้านและราษฎรในตำบลปูโยะ ช่วยกันออกไม้และจะปลูกสร้างที่พักหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรสุไหงโก-ลก ให้ ๑ หลัง ซึ่งเป็นที่พักของนายร้อยตำรวจอยู่เดียวนี้ และช่วยขุดตอปราบดิน ในบริเวณสถานีตำรวจสุไหงโก-ลกให้ราบเตียน ช่วยทำถนนในบริเวณให้ ๑ สายด้วย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ข้าพเจ้าได้จัดการเรี่ยไรเงินได้ ๔๕๐ บาท กับเรี่ยไรตัวไม้และจากได้เป็นจำนวนมาก จึงจัดการปลูกสร้างที่พักอาศัยให้พลตำรวจสถานีตำรวจสุไหงโก-ลก ปลูกเป็นเรือนห้องแถวเป็นจำนวน ๑๔ ห้อง เครื่องไม้กลมและไม้เหลี่ยมผสม ฝากระดานหลังคามุงจาก พื้นลาดปูนซีเมนต์ ซึ่งพลตำรวจได้ใช้เป็นที่พักอาศัยกันอยู่เดี๋ยวนี้
การทำมาหาเลี้ยงชีพในการค้าขายโดยมากราษฎรผู้หญิงไทยอิสลามไม่ค่อยทำงานการอาชีพ โดยถือว่าขายของขายขนมข้าวต้มเป็นของเลว เกิดความละอายเพื่อนฝูง เพราะตามประเพณีของเขาต้องให้สามีเป็นผู้ทำงานหาเลี้ยง ส่วนผู้หญิงเป็นภริยานั้นมีหน้าที่อยู่กับบ้านเรือน ทำหน้าที่หุงต้มอาหารที่ทางฝ่ายสามีเป็นผู้หามาให้ถึงมือของตน ข้าพเจ้าได้ออกไปตามหมู่บ้านเรียกราษฎรผู้หญิงมาประชุม แนะนำสั่งสอนให้ประกอบอาชีพทางการค้าขาย หากใครทำขนมข้าวต้มไปนั่งขายที่ตลาดของข้าพเจ้าในวันเสาร์อาทิตย์เสมอๆจนครบ ๓ เดือน ข้าพเจ้าจะให้รางวัลคนขยัน คนละ ๓๐ บาท เพื่อทำตัวอย่างในการชักชวนนี้ข้าพเจ้าในภริยาของข้าพเจ้าทำขนมข้าวต้มมานั่งขายบ้าง เที่ยวเดินเร่ขายบ้าง เพื่อให้เขาเห็นว่าภริยากำนันนายตำบลก็ยังเที่ยวเดินหาบขนมขายตามถนนได้ ภริยาของข้าพเจ้ากระทำเป็นตัวอย่างอยู่เช่นนี้เป็นเวลานาน ราษฎรหญิงในตำบลนี้ก็พากันเอาอย่าง เกิดการนิยมชมชอบในการค้าขายขึ้นทุกๆหมู่บ้าน และเกิดการขยันขันแข็งในการค้าขายขึ้นตลอดมาจนถึงขณะนี้
การปกครองราษฎร ข้าพเจ้าให้โอกาสกับราษฎรไว้ว่า หากเขามีกิจธุระจะทำการติดต่อกับข้าพเจ้าๆ ยินดีทุกเมื่อที่จะช่วยเหลือเขาไม่ว่าที่ไหนเวลาใด หากเป็นเวลาที่ข้าพเจ้าหลับนอนก็ร้องเรียกได้ ข้าพเจ้าได้เอาฆ้องแขวนไว้หน้าบ้าน ๑ ใบ หากราษฎรมีกิจธุระต้องการพบข้าพเจ้า ก็ให้ตีฆ้องใบนั้นขึ้น ไม่ว่าเวลาใดตีได้ ตั้งแต่แขวนฆ้องก็ไม่ปรากฏว่าราษฎรคนใดไปตีเลย ฆ้องใบนั้นก็คงแขวนอยู่เฉยๆ ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ประเทศสยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาปกครองระบอบรัฐธรรมนูญข้าพเจ้ารู้สึกพอใจการปกครองระบอบนี้ เหมาะสมเป็นที่พอใจของข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะข้าพเจ้าทำการปกครองราษฎรอยู่ในขณะนั้น ก็เข้าหลักตรงกับระบอบอันนี้อยู่ก่อนแล้ว ข้าพเจ้าจึงช่วยทำการชี้แจงให้ราษฎรทุกๆหมู่บ้านเลื่อมใสการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๖ รัฐบาลประกาศรับสมัครเลือกตั้งผู้แทนตำบล ข้าพเจ้าได้สมัครเข้าแข่งขันเพื่อเข้ารับเลือกเป็นผู้แทนตำบลปูโยะ การสมัครแข่งขันครั้งนั้นมีผู้สมัครรวมด้วยกัน ๕ คน อาศัยคุณงามความดีของข้าพเจ้า ซึ่งทำไว้ต่อประชาชนในระหว่างที่ข้าพเจ้ารับราชการเป็นกำนัน นายตำบลดังกล่าวมาแล้ว ราษฎรจึงเลือกข้าพเจ้าเป็นผู้แทนตำบลปูโยะ เมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้แทนตำบล ข้าพเจ้าได้ทำคุณประโยชน์ให้กับราษฎรตามหน้าที่ดังกล่าวต่อไปนี้
๑.ข้าพเจ้าได้ขอร้องให้กรมรถไฟ จัดเดินรถไฟเพิ่มขึ้น ๑ ขบวน จากสถานีรถไฟยะลาไปยังสถานีสุไหงโก-ลก เรียกรถไฟขบวนนี้ว่าขบวนกลางวัน กรมรถไฟได้จัดการเดินรถขบวนนี้ตามที่ข้าพเจ้าร้องขอประชาชนผู้โดยสารจึงได้รับความสะดวก
๒.ที่สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก แต่ครั้งก่อนมาหามีบุรุษไปรษณีย์ ซึ่งจะทำการเดินส่งหนังสือและโทรเลขในตลาดสุไหงโก-ลกไม่ ข้าพเจ้าได้ร้องขอต่อกรมไปรษณีย์โทรเลขให้มีบุรุษไปรษณีย์ขึ้น ๑ คน กรมไปรษณีย์ก็จัดให้ตามที่ข้าพเจ้าร้องขอ
๓.ข้าพเจ้าได้ทำคำร้องยื่นต่อกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้กระทรวงนี้เจรจาขอที่ดินของกรมรถไฟกว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๒๐๐ เมตร จะจัดการปลูกสร้างเป็นโรงเรียนถาวรขึ้นที่สุไหงโก-ลก กรมรถไฟก็อนุญาตตามที่ข้าพเจ้าร้องขอ และกระทรวงศึกษาธิการให้เงิน ๑,๐๐๐ บาท มาสมทบในการปลูกสร้างโรงเรียนข้าพเจ้าจัดการเรี่ยไรเงินได้เป็นจำนวน ๑,๗๐๐ บาท ได้ทำการปลูกสร้างเสร็จเรียบร้อยใช้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของกุลบุตรกุลธิดามาจนถึงบัดนี้ นับเป็นประวัติการณ์อันสำคัญที่บุคคลขอที่ดินรถไฟมาได้เป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดเช่นนี้
๔.ข้าพเจ้าได้วางโครงการจัดสร้างถนนจากสุไหงโก-ลก ไปยังอำเภอตากใบ ๑ สาย จากสุไหงโก-ลก ไปยังสุไหงปาดี ๑ สาย สร้างไปยังอำเภอแว้ง ๑ สาย และได้ลงมือสร้างถนนไปจดหมดเขตตำบลของข้าพเจ้าแล้ว ทั้ง ๓ สาย ซึ่งคำนวณระยะทางที่สร้างแล้วเสร็จเป็นสายๆดังนี้ ถนนสายจากสุไหงโก-ลก ไปต่อเขตอำเภอตากใบเป็นระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร ถนนสายสุไหงโก-ลก ไปต่อเขตตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดีเป็นระยะทาง ๖ กิโลเมตร สายสุไหงโก-ลก ไปอำเภอแว้ง ๖ กิโลเมตร หมดเขตตำบลของข้าพเจ้า ถนนสายนี้หลวงนรกิจกำจร นายอำเภอแว้งในสมัยนั้นได้สร้างมาติดต่อจนสำเร็จ เป็นถนนถาวรอยู่ในสมัยปัจจุบันนี้ส่วนถนนอีกสองสายนั้น หากทางอำเภอตากใบและอำเภอสุไหงปาดี ทำมาติดต่อเส้นทาง ๒ สายนี้ จะก่อให้เกิดการคมนาคมอันสำคัญต่อไปในอนาคต ส่วนการคมนาคมในเขตตำบลของข้าพเจ้านั้นทุกๆหมู่บ้านไปมาหากันได้สะดวก
๕.ข้าพเจ้าได้ยื่นคำร้องต่อ กระทรวงมหาดไทย ขออนุญาตตั้งบ่อนชนโคกระบือขึ้นในตำบลปูโยะกระทรวงมหาดไทย อนุญาตให้ข้าพเจ้าตั้งบ่อนขึ้นได้ตามขอใน พ.ศ.๒๔๗๗ จึงกระทำให้มีบ่อนชนโคติดเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็โดยการริเริ่มของข้าพเจ้า
๖.ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ ข้าพเจ้าได้ร้องขอต่อ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี (ในสมัยนั้น) เชิญเอารัฐธรรมนูญฉบับจำลอง มาทำการฉลองที่สุไหงโก-ลก นายกรัฐมนตรีก็อนุญาตตามที่ข้าพเจ้าร้องขอ ข้าพเจ้าได้จัดให้มีงานฉลอง ๑๐ วัน ในงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งนี้ รัฐบาลได้อนุญาตให้เปิดการพนันประเภท ๒ มีการชนโค ชนกระบือ ชนไก่ ตกเบ็ด บิงโก ยิงเป้า ไพ่เผ ไพ่ตอง มีการชกมวยไทย ชกมวยชีละมลายู ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกใน ๔ จังหวัดภาคใต้ ติดเนื่องกันมาจนถึงขณะนี้ โดยที่ข้าพเจ้าเป็นผู้ริเริ่มมาก่อนทั้งนั้น มีการออกร้านประกวด มีการประกวดพืชผล ประกวดปศุสัตว์ ประกวดขวนแห่ ในงานนี้มีข้าราชการหัวหน้ากรมกองต่างๆในจังหวัดพระนคร ได้พากันมาร่วมงานในครั้งนี้เป็นอันมาก ปลัดกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมโฆษณาการเป็นประธานในงาน พระพิชิตบัญชาราช ข้าหลวงประจำจังหวัดนราธิวาส พระยาภูผาภักดีศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา พระยาเมืองเป็นกรรมการ นอกนั้นมีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต่างๆ งาน ๑๐ วันดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ในบริเวณป่าที่ข้าพเจ้าทำการแผ้วถางทำเป็นชนบทดังกล่าวมาแล้วนั้นเกิดเป็นอาคารบ้านเรือนมีประชาชนพากันมาอยู่อย่างหนาแน่น จนปรากฏว่ามีราษฎรเข้ามาอยู่ใหม่ เป็นจำนวน ๖,๔๐๐ คนเศษ เมื่อรวมเข้ากับตำบลปูโยะ ซึ่งมีอยู่ก่อน ๕,๘๐๐ คน เป็นจำนวนราษฎร ๑๒,๓๐๐คน ในกลางปี พ.ศ. นี้เองรัฐบาลได้แยกตำบลปูโยะ ออกเป็น ๒ ตำบลโดยเอาอาณาเขตกว้างยาวของป่าจันตุหลีทั้งหมด ที่ข้าพเจ้าสร้างเป็นชนบทขึ้นเป็นเขตตำบล เรียกตำบลสุไหงโก-ลก ส่วนเนื้อที่นอกเขตตำบลนี้คงเป็นตำบลปูโยะตามเดิม ข้าพเจ้าเป็นกำนันตำบลสุไหงโก-ลก ส่วนในตำบลปูโยะได้จัดตั้งกำนันขึ้นใหม่แทนข้าพเจ้า ราษฎรในตำบลปูโยะมีจำนวน ๒,๔๗๓ คน ได้ทำคำร้องยื่นต่อกระทรวงมหาดไทยคัดค้านไม่เห็นด้วยในการที่แยกตำบลปูโยะออกเป็น ๒ ตำบล ทั้งขัดขืนไม่ยอมให้กำนันคนใหม่ปกครอง รัฐบาลจึงให้แยกตำบลปูโยะออกใหม่อีกเป็น ๒ ตำบล ตำบลที่แยกใหม่นี้เรียกว่าตำบลปาเสมัส เขตติดต่อกับตำบลสุไหงโก-ลกทางด้านทิศเหนือ ทั้งนี้ส่อให้เห็นได้ว่าในชั่วระยะไม่กี่ปี ที่ข้าพเจ้ารับหน้าที่เป็นกำนันตำบลปูโยะมานี้ ได้ทำนุบำรุงท้องถิ่นให้เกิดความเจริญขึ้น จึงมีประชาชนเข้ามาตั้งภูมิลำเนาเป็นหลักเป็นแหล่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก กระทำให้ตำบลปูโยะเป็นตำบลใหญ่จนรัฐบาลต้องแบ่งการปกครองในตำบลเดียวออกเป็น ๓ ตำบลได้
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในปลายเดือนมีนาคมพ.ศ.นี้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มาตรวจราชการถึงตำบลสุไหงโก-ลก ข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปิดเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก จอมพล ป.พิบูลสงครามเห็นพ้องด้วย จึงสั่งให้ทำการเปิดเทศบาลขึ้นในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ นับเป็นประวัติศาสตร์ที่แปลกประหลาด โดยขอตั้งเทศบาลขึ้นมานี้ขอกันด้วยวาจารัฐบาลได้แต่งตั้งสมาชิกสภาเทศบาลผู้เริ่มเตรียมการครั้งแรก ซึ่งอายุสมาชิกภาพมีกำหนดเพียง ๒ ปี ผู้ได้รับแต่งตั้งครั้งนี้มี ข้าพเจ้า ขุนสรกิจกังวาน นายน่วม สุวพันธ์ นายเอิบ อิสสระ นายสุวรรณ มุสิกบุตรนายหวัง สมัครกิจ นายจรูญ จูฑะวิภาค นายคำ สุวรรณราช นายเจ๊ะหมัด บินวาฮับ รวม ๙ นาย ข้าพเจ้าได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรี ขุนสรกิจกังวาน นายน่วม สุวพันธ์ เป็นเทศมนตรี
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๖ อายุสมาชิกภาพชุดนี้สิ้นสุดลง ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลกันใหม่ โดยประชาชนในเขตเทศบาลเป็นผู้เลือก ผู้ที่ได้รับเลือกมีข้าพเจ้า นายน่วม สุวพันธ์ นายเต็น สุขสมบูรณ์ นายเอิบ อิสสระ นายสุวรรณ มุสิกบุตร นายจรูญ จูฑะวิภาค นายมี ไชยสุวรรณ นายปลื้มสำหสมณี นางแก้ว สวนเดือนฉาย รวม ๙ นาย ที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ส่วนสมาชิกประเภทที่ ๒ มีจำนวน ๑๒ คน ข้าพเจ้าได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี นายน่วม สุวพันธ์ นายปลื้ม สำหสมณี เป็นเทศมนตรี ในกลางปี พ.ศ.นี้ นางแก้ว สวนเดือนฉาย ได้ลาออกจากสมาชิกภาพ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง นายแซว ผุสระ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลแทนในตำแหน่งที่ว่างนั้น ครั้งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ นายปลื้ม สำหสมณี ได้ลาออกจากสมาชิกภาพไป ได้มีการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาเทศบาลเป็นครั้งที่ ๒ นายยศ นิคม ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลแทนในตำแหน่งที่ว่างต่อไป ส่วนตำแหน่งเทศมนตรีที่ว่างอยู่นั้น นายสุวรรณ มุสิกบุตร ได้รับเลือกเป็นเทศมนตรีแทน ในปลายปี พ.ศ.นี้ ข้าพเจ้าได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี ข้าหลวงประจำจังหวัดนราธิวาส ได้อนุญาตให้ลาออกได้ตามความประสงค์ ได้มีการเลือกนายกเทศมนตรีกันใหม่ สมาชิกสภาเทสบาลตำบลนี้เลือกข้าพเจ้า เป็นนายกเทศมนตรีอีกต่อไป นายเต็น สุขสมบูรณ์ นายเอิบ อิสสระ เป็น เทศมนตรี รวมเวลา๗ ปี ที่ได้เปิดเทศบาลตำบลขึ้นในชนบทนี้ ข้าพเจ้า ได้จัดการบูรณะท้องถิ่นโดยจัดให้มีโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลขึ้น ๒ หลัง จัดให้มีส้วมถังเทตามแบบของเทศบาล จัดให้มีถังขยะมูลฝอยตามแบบสาธารณะสุขจัดตั้งโรงเรียนเพิ่มขึ้น ๓ แห่ง รวมทั้งของเดิมเป็น ๔ โรงเรียน จัดบูรณะถนนหนทางเป็นคอนกรีต เป็นถนนลาดยาง ให้สะอาดเรียบร้อย จัดทำผังเมือง และวางหลักเกณฑ์ ในการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนของราษฎรในเขตเทศบาลให้เป็นระเบียบ ซึ่งเวลานี้อาคารบ้านเรือนร้านค้าหนาแน่นขึ้น นับว่าในสมัยปัจจุบันนี้ตำบลสุไหงโก-ลก เป็นแหล่งการค้าขายขึ้นแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งเกิดเป็นชุมชนอันใหญ่เมื่อประชาชนเข้ามาอยู่กับคับคั่ง สิ่งที่จำเป็นซึ่งเขาต้องการบางอย่างยังขาดอยู่ เช่น สุสาน สนามกีฬา ท่าเทียบเรือ ดังนี้ข้าพเจ้าจึงได้ยกที่ดินของข้าพเจ้าให้เป็นสุสานของคนไทยพุทธ สำหรับทำการเผาศพและฝั่งศพ กว้าง ๔๕วา ยาว ๗๐ วา และแบ่งที่ดินที่ดินที่ติดต่อกับที่ดินแปลงนี้ให้กับชนชาวจีนทำสุสานสำหรับฝั่งศพ กว้าง ๔๕ วา ยาว ๗๐ วา และจับจองที่ดินป่ากว้าง ๕๐ วา ยาว ๑๐๐ วา ยกให้คนไทยอิสลามทำสุสานสำหรับฝั่งศพซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าจัดสร้างท่าเทียบเรือขึ้น ณ ที่ปลายถนนประเวศน์ชลธีริมฝั่งคลองสุไหงโก-ลก โดยที่ดินแปลงนี้เป็นของข้าพเจ้าประมาณ ๑ ไร่เศษ ราคา ๒๕,๐๐๐ บาท ข้าพเจ้ายกให้เป็นบริเวณท่าเทียบเรือของเทศบาล ซึ่งปรากฏอยู่ในขณะนี้
ข้าพเจ้าได้จัดสร้างสนามฟุตบอล สำหรับให้เป็นสนามกีฬาสำหรับประชาชน และนักเรียนในบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านสุไหงโก-ลก โดยเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้าง เป็นเงิน ๓,๕๐๐ บาท เงินจำนวนนี้เป็นเงินส่วนตัวของข้าพเจ้า อุทิศให้เป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งปรากฏเป็นสนามฟุตบอลเป็นมาตรฐานอยู่ในปัจจุบันนี้
ครั้งวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ข้าพเจ้าได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสข้าพเจ้าได้ลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนราษฎรต่อไป ส่วนตำแหน่งนายกเทศมนตรี เมื่อข้าพเจ้าลาออกไปแล้วนั้น นายเอิบ อิสสระ ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีบริหารราชการส่วนท้องถิ่นแทนข้าพเจ้าต่อไป
เมื่อข้าพเจ้าได้รับเลือกเข้าไปเป็นผู้แทนราษฎร นั้น ข้าพเจ้าได้เสนอให้รัฐบาล ยกฐานะตำบลสุไหงโก-ลก ขึ้นเป็นอำเภอ เพราะตำบลนี้ตั้งอยู่ชายแดนติดต่อกับต่างประเทศ และมีเทศบาลตั้งอยู่แล้ว รัฐบาลสมัยนั้นเห็นพ้องตามที่ข้าพเจ้าเสนอ จึงตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้นมาก่อน ครั้นต่อมาจึงตั้งเป็นอำเภอซึ่งปรากฏอยู่ในขณะนี้ เป็นประวัติการณที่ตั้งอำเภอขึ้น โดยที่ข้าพเจ้าเสนอขอจากรัฐบาลมา
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๐ อายุสมาชิกภาพของผู้แทนราษฎร สิ้นอายุตามวาระแห่งรัฐธรรมนูญข้าพเจ้ากลับมายังภูมิลำเนาเดิมตำบลสุไหงโก-ลก ให้จัดการสร้างสวนสนุกขึ้น ใช้ชื่อว่า สวนวงศ์สุขารมณ์ในสวนสนุกที่สร้างขึ้นมานี้ มีการมหรสพต่างๆหามาแสดงในเวลากลางคืน มีรำวง มีระบำศิลปนายหรั่งเรืองนาม มีลิเก มีหนังสด มีมะโย่ง มีมโนราห์ มีหนังตะลุงไทยและมาลายู มีบังซาหวัน มีลำตัดไทยมีลำตัดแขก (ลิเกฮูลู) มีภาพยนตร์ฉายประจำ มีรถไต่ถัง มีชิงช้าสวรรค์ มีการชกมวยเป็นประจำทุกคืน ส่วนมหรสพนั้นผลัดเปลี่ยนกันมาแสดง เวลากลางวัน มีการชนโคชนกระบือ ชนแกะ ชนไก่ แข่งขันกีฬาฟุตบอลมีทีมฟุตบอลตามท้องที่ต่างๆมาแข่งขัน ประชาชนพลเมืองตามท้องที่ต่างๆตลอดถึงต่างประเทศตลอดถึงต่างประเทศกลันตันพากันหลั่งไหลเข้ามาดูงาน ทั้งกลางวันกลางคืน เป็นงานประจำวันเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน เก็บค่าผ่านประตูเข้าชมคนละ ๓ บาท ซึ่งสมัยนั้นไม่มี ณ ที่ใดที่จะคิดทำสวนสนุกจัดงานอย่างนี้ขึ้นมาเลย ข้าพเจ้าเป็นผู้ริเริ่มขึ้นมาในประเทศไทยเป็นคนแรก ประชาชนบังเกิดนิยมชมชอบดูงานแบบนี้กันอย่างคับคั่ง ต่อมาทางราชการจังหวัดปัตตานี เรียบแบบงานจากข้าพเจ้า ไปจัดงานประจำปีขึ้นในจังหวัดนั้น นับเป็นมือที่ ๒ จากข้าพเจ้า ต่อมาก็บังเกิดความนิยมจัดงานแบบของข้าพเจ้านี้ ขึ้นมาเป็นการแพร่หลาย และบางท้องที่จัดเป็นงานประจำปีกันเป็นประเพณีอยู่ ณ บัดนี้
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๒ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลกันใหม่อีก ข้าพเจ้าสมัครเข้าทำการแข่งขันได้รับเลือกจากประชาชนในตำบลนี้เป็นสมาชิกสภาเทศบาล และรับเลือกจากสมาชิกสภาเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก ข้าพเจ้าเข้ามาบริหารราชการท้องถิ่นในครั้งนี้ได้แต่งตั้งให้ นายวีระ วัชรีวงศ์ ณ อยุธยา เป็นเทศมนตรี นายพร้อม หิรัญศรี เป็น เทศมนตรีในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ข้าพเจ้าได้เรียกพ่อค้าจีน ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องถิ่นตำบลสุไหงโก-ลก ประชุมที่บนเวทีรำวง ให้สวนวงศ์สุขารมณ์ ชักชวนพ่อค้าจีนคิดสร้างศาลเจ้าในตำบลสุไหงโก-ลก เมื่อทำการสร้างเสร็จแล้วให้ไปเชิญเอาเจ้าแม่ม้าโพ่ ซึ่งเป็นเจ้าแม่ที่มีอภินิหารอันศักดิ์สิทธิ์ เดิมประดิษฐานอยู่บนภูเขาเมืองลิซอ กิ่งอำเภอโต๊ะโม๊ะ มาก่อนประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ และมีผู้โยกย้ายพาลี้ภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ลงมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ เอามาไว้ที่สามแยก ตำบลกายูคละ เมื่อประชุมชักชวนพ่อค้าจีนต่างคนต่างมีความยินดีและมีความพอใจกันเป็นอันมาก จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดหาเงินปลูกสร้างศาลขึ้น ข้าพเจ้าผู้ชักชวนได้ออกเงินให้เป็นตัวอย่างก่อนมอบให้คณะกรรมการเป็นเงิน ๑,๕๐๐ บาท ต่อไปมีพ่อค้าคนจีนช่วยออกเงินคนละมากๆทำการปลูกสร้างศาลเจ้าขึ้นมาจนสำเร็จ และไปเชิญเอาเจ้าแม่ม้าโพ่มา การที่มีศาลเจ้าขึ้นในตำบลนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ริเริ่มให้มีขึ้นมาเป็นประวัติการณ์
ข้าพเจ้าได้เข้าบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้จัดการปลูกสร้างที่ทำการเทศบาลขึ้นซึ่งเป็นที่ทำการเทศบาลปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ครั้งต่อมา ข้าพเจ้าได้รายงานเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ตั้งโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาขึ้นในท้องที่อำเภอสุไหงโก-ลก เป็นอำเภอแรกในจังหวัดนราธิวาส ที่ตั้งโรงเรียนมัธยมขึ้นมา แต่ครั้งแรกตั้งขึ้นมานี้ให้มีเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เท่านั้นต่อมา นายเอิบ อิสสระ ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ได้เสนอขอจากรัฐบาลให้มีถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งอนุชนได้ศึกษากันอยู่ในปัจจุบันนี้
ครั้งต่อมาข้าพเจ้าได้มีหนังสือไปขอให้ กรมไปรษณีย์โทรเลข เปิดที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขขึ้นในตำบลสุไหงโก-ลก กรมไปรษณีย์เห็นพ้องตามที่ข้าพเจ้าเสนอไปนั้น ได้ขอให้ข้าพเจ้าจัดหาสถานที่สำหรับตั้งที่ทำการให้เป็นการชั่วคราวก่อน ข้าพเจ้าได้เช่าห้องแถวของนายกลั่น สามนกฤษณะให้ ๑ ห้อง โดยข้าพเจ้าได้ออกเงินส่วนตัวให้ค่าแป๊ะเจี๊ยะกับเจ้าของห้องไป เป็นเงิน ๗๐๐ บาทถ้วน กรมไปรษณีย์ จึงได้ทำการเปิดการไปรษณีย์โทรเลข ขึ้นในท้องที่อำเภอสุไหงโก-ลก เป็นครั้งแรก ณ ห้องแถวนี้เป็นประวัติการณ์ ครั้งต่อมากิจการสื่อสารการไปรษณีย์โทรเลขที่ตั้งขึ้นมาในท้องที่นี้ เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้จัดสร้างที่ทำการไปรษณีย์เป็นอาคารของตนเองขึ้นมาในที่ดินของกรมรถไฟ ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ต่อมาข้าพเจ้าได้มีหนังสือไปยังกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ตั้งสุขศาลาชั้น ๑ ขึ้นในตำบลสุไหงโก-ลก กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยตามที่ข้าพเจ้าเสนอให้จัดตั้งสุขศาลาชั้น ๑ ขึ้น ข้าพเจ้าได้ช่วยจัดการหาเงินทุนสร้างสุขศาลา โดยอนุญาตให้จัดงานขึ้นในสวนวงศ์สุขารมณ์ ๗ วัน ๗ คืน เก็บเงินรายได้ค่าผ่านประตูได้เงินประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาทเศษ ได้จัดการปลูกสร้างสุขศาลาชั้น ๑ ขึ้น ซึ่งมีปรากฏอยู่ในปัจจุบันต่อมาข้าพเจ้าได้มีหนังสือไปถึงกระทรวงมหาดไทยขอให้รัฐบาลจัดตั้งการประปาขึ้นในตำบลสุไหงโก-ลก เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคน้ำสะอาดบริสุทธิ์ รัฐบาลเห็นพ้องตามที่ข้าพเจ้าเสนอจึงให้เงินงบประมาณมาสร้างเป็นเงิน ๑ ล้านแปดแสนบาท ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้
ข้าพเจ้าเสนอความคิดเห็น เสนอแนะให้ คุณเทียน อัชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ให้ขอไปรัฐบาล ตั้งโรงพยาบาลขึ้นในตำบลสุไหงโก-ลก โดยให้เหตุผลว่า ทั้งสองอำเภอนี้ตั้งอยู่ชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย (กลันตัน) คืออำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง ทั้งที่ ๒ อำเภอนี้ มีพลเมืองประมาณ๕๐,๐๐๐ คนเศษ เวลาเจ็บป่วยขึ้น ก็พากันออกไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่เมืองกลันตันอยู่เสมอเป็นการเสียหายแก่รัฐบาลของเราในด้านนโยบายทางการเมืองใน ๔ จังหวัดภาคใต้ คุณเทียน อัชกุลเห็นด้วยกับความคิดเห็นที่ข้าพเจ้าเสนอแนะ จึงได้พยายามวิ่งเต้นติดต่อกับรัฐบาลขอตั้งโรงพยาบาลขึ้นในท้องที่อำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งประชาชนพลเมืองทั้ง ๒ อำเภอได้อาศัยเป็นสถานที่รักษาพยาบาล บำบัดโรคภัยไข้เจ็บอยู่ปัจจุบันนี้ พลเมืองทั้ง ๒ อำเภอนี้รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของคุณเทียน อัชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในสมัยนั้นอยู่เป็นอันมาก
ตามที่ข้าพเจ้าได้ทำการเบิกป่าและจัดสร้างเป็นชนบทสุไหงโก-ลก ขึ้นมา ตามสภาพอันเป็นประจักษ์พยานดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ท่านทั้งหลายคงจะเห็นได้ว่าข้าพเจ้าผู้บุกเบิกป่า ทำให้เป็นบ้านเมืองขึ้นมาได้นั้น จะต้องใช้กำลังทรัพย์กำลังสมอง โดยใช้สติปัญญา กำลังความคิด ต้องตรากตรำอย่างหนักมาแล้วอย่างใดบ้างนั้น สภาพทางด้านวัตถุที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนี้ ตามที่กล่าวอ้างมานั้นเป็นสิ่งให้ท่านพิจารณาเองว่า ข้าพเจ้ามีภาระหนักเพียงใด ที่พยายามปลุกปล้ำให้ชนบทสุไหงโก-ลก เป็นบ้านเมืองที่เจริญขึ้นมา ทัดเทียวกับชนบทที่เขามีความเจริญมาก่อนแล้วนั้น แต่โดยที่เจตนารมณ์ของข้าพเจ้า ต้องการให้พลเมืองที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนี้ ให้บังเกิดความสุขทั้งทั่งหน้ากันจึงนับว่าเป็นโชคดีอยู่เสมอที่ข้าพเจ้าเสนอความคิดเห็น เสนอขออะไรเข้าไป ซึ่งจะบังเกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนร่วมในท้องที่นี้ ทางรัฐบาลทุกสมัยเห็นพ้องด้วยและเป็นผลสำเร็จตามที่เสนอขอไปนั้นทุกครั้ง จึงขอขอบพระคุณคณะรัฐบาลทุกสมัยแทนประชาชนพลเมืองในท้องถิ่นนี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย
(นายวงศ์ ไชยสุวรรณ์ ได้บันทึกและตีพิมพ์ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๙๓)
เทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก ในวันที่ 24 มิถุนายน 2843 มีพื้นที่ 22 ตารางกิโลเมตร ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลไปทางทิศเหนือ เขตตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก 0.5 ตารางกิโลเมตร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 83 ตอนที่ 21 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2509 รวมพื้นที่ 22.5 ตารางกิโลเมตรต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลเมือง

ตราประจำเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
ตามประจำเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ได้คิดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๓ โดยนายวงศ์ ไชยสุวรรณ์
นายกเทศมนตรีสมัยนั้น เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้น โดยมีความหมายดังต่อไปนี้
พระนารายณ์ ให้หมายถึงพระนารายณ์ ๔ กร ที่อวตารให้บังเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมี
ความสามารถที่จะปกป้องคุ้มครองประเทศไทยไว้จากประเทศล่าเมืองขึ้นไว้ได้ราวกับปาฏิหาริย์
นาค หมายถึงคำที่มาจากภาษาท้องถิ่นนราธิวาสว่า นาฆอแปลว่า นาค
สี่พระกรของพระนารายณ์ คือ
พระกรซ้ายบน ถือคบเพลิง หมายถึงเทศบาลจะส่งเสริมการศึกษา
พระกรซ้ายล่าง ถือแผนที่ประเทศไทย หมายถึงเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อยู่ทางใต้สุดของประเทศไทย
พระกรขวาบน ถือหนังสือ หมายถึงสนธิสัญญา ซึ่งประเทศไทยได้หลุดพ้นจากภาษีร้อยชัก ๓ ในสมัยก่อน
พระกรขวาล่าง อุ้มพานรัฐธรรมนูญ หมายถึงเทศบาลเทิดทูนรัฐธรรมนูญเหนือสิ่งอื่นใด

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณข้อมูลดีๆ ทำให้รู้ประวัติที่มีมาทรงคุณค่ายิ่ง

    ตอบลบ