วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อัญมณีเจียระไน และเครื่องประดับอัญมณีเจียระไน

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก

ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๔๔)

เรื่อง ให้อัญมณีเจียระไน และเครื่องประดับอัญมณีเจียระไน

เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก[๑]

โดยที่สินค้าอัญมณีเจียระไน และเครื่องประดับอัญมณีเจียระไนแสดงสาระสำคัญเกี่ยวกับฉลากสินค้าไม่แจ้งชัดในการเลือกซื้อ เพื่อป้องกันการหลอกลวงผู้บริโภค สมควรแก้ไขการกำหนดข้อความในฉลากเกี่ยวกับการขายอัญมณีเจียระไน และเครื่องประดับอัญมณีเจียระไนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการว่าด้วยฉลากจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในประกาศฉบับนี้

“อัญมณีเจียระไน” หมายความว่า รัตนชาติที่เป็นเพชรและพลอยตามธรรมชาติที่นำมาเจียระไนตกแต่ง หรือขัดมันแล้ว และหมายความรวมถึง วัสดุที่เลียนแบบหรือวัสดุสังเคราะห์ที่นำมาทำเป็นเครื่องประดับ

“เครื่องประดับอัญมณีเจียระไน” หมายความว่า เครื่องประดับที่ทำขึ้นด้วยอัญมณีเจียระไน ประกอบขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ ชนิด โดยใช้ทองรูปพรรณหรือแพลทินัม หรือเงิน หรือวัสดุอื่นประกอบด้วย

ข้อ ๒ ให้อัญมณีเจียระไน และเครื่องประดับอัญมณีเจียระไนเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

ข้อ ๓ ฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลากตามข้อ ๒ ให้ปฏิบัติตามข้อ ๑ และข้อ ๓ แห่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ และข้อ ๓ ทวิ (๑) แห่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ไว้ในฉลากด้วย

(๑) ชื่อและสถานที่ประกอบการ หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือของผู้จำหน่าย หรือของผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย แล้วแต่กรณี และในกรณีที่เป็นอัญมณีเจียระไนหรือเครื่องประดับอัญมณีเจียระไนที่สั่ง หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ให้ระบุชื่อประเทศที่ผลิตด้วย

(๒) อัญมณีเจียระไน หรือเครื่องประดับอัญมณีเจียระไน แล้วแต่กรณี ให้ระบุชื่ออัญมณีซึ่งเป็นชื่อทางการค้า โดยอนุโลม ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมศัพท์บัญญัติอัญมณี มอก. ๑๒๑๕ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความในวรรคสอง และวรรคสามของ (๒) และระบุว่าเป็นอัญมณีธรรมชาติ หรืออัญมณีสังเคราะห์ หรืออัญมณีเทียม

ห้ามใช้ชื่อของอัญมณีธรรมชาติประกอบคำที่ไม่ใช่อัญมณีธรรมชาติที่เป็นวัสดุเลียนแบบหรือสังเคราะห์ เช่น มรกตเทียม เพชรเทียม มรกตสังเคราะห์ หรือเพชรสังเคราะห์ โดยให้ระบุว่าอัญมณีเลียนแบบ หรืออัญมณีสังเคราะห์ แล้วแต่กรณี

ห้ามใช้คำว่า “เพชร” สำหรับอัญมณีที่ไม่ได้ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน (carbon) เพียงธาตุเดียวตามธรรมชาติ

(๓) ต้องแสดงน้ำหนักอัญมณีเจียระไนหรือเครื่องประดับอัญมณีเจียระไนแต่ละชนิดที่ใช้ในการทำเครื่องประดับหรือขึ้นรูป โดยระบุหน่วยเป็นกะรัตหรือใช้สัญลักษณ์ ct แทนก็ได้

(๔) ปริมาณความบริสุทธิ์ของทองรูปพรรณที่ใช้ในการขึ้นรูป โดยระบุหน่วยเป็นกะรัต หรือเปอร์เซ็นต์ หรือร้อยละ หรือใช้สัญลักษณ์ K หรือ % แทนก็ได้

(๕) ราคาให้ระบุเป็นเงินสกุลไทย และจะระบุเป็นเงินสกุลอื่น หรือใช้สัญลักษณ์ของสกุลเงินแทนก็ได้

ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔

มาลดี วสีนนท์

ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น