วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทินเนอร์เป็นสินค้า

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก

ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๒๙)

เรื่อง กำหนดทินเนอร์เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

โดยปรากฏว่า ในขณะนี้ มีการจำหน่ายสินค้าประเภทหนึ่งในท้องตลาดใช้ชื่อว่าทินเนอร์ ซึ่งมิใช่ทินเนอร์ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้ควบคุมทินเนอร์อยู่แล้ว บางส่วนสินค้าที่เรียกว่าทินเนอร์นี้ ยังไม่มีการควบคุมโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผู้บริโภคมักจะนำสินค้าที่ใช้ชื่อว่าทินเนอร์นี้ ไปใช้ในการผสมสี ใช้ผสมกับแลคเกอร์ หรือใช้ล้าง หรือทำความสะอาดสิ่งต่าง ๆ และมีการนำไปใช้สูดดม โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน อันเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง สมควรกำหนดทินเนอร์เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อควบคุมให้ทำฉลาก โดยระบุวัตถุประสงค์ของการใช้ ส่วนประกอบ ปริมาตรสุทธิ คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ และคำเตือนเกี่ยวกับอันตราย ไว้ในฉลาก ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงการไม่ปฏิบัติ ให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และเพื่อคุ้มครองให้ผู้บริโภคใช้สินค้านี้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในฉลาก

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการว่าด้วยฉลากออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในประกาศนี้ ทินเนอร์ หมายความว่า สารอินทรีย์ที่เป็นตัวทำละลายซึ่งใช้ผสมกับสิ่งอื่นเพื่อช่วยลดความหนืดหรือความข้นเหลว และตามปกติในการใช้ไม่มุ่งหมายให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีต่อสิ่งของนั้น

ข้อ ๒ ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับแก่ทินเนอร์ ดังต่อไปนี้

(๑) ทินเนอร์ที่ไม่ได้ขายปลีกแก่ผู้บริโภคโดยตรง เช่น ผู้ประกอบธุรกิจที่ซื้อเพื่อนำไปผลิตสินค้าอื่น

(๒)[๑] ทินเนอร์ที่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย หรือกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง

(๓) ทินเนอร์ที่มีการกำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

ข้อ ๓ ให้ทินเนอร์เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

ข้อ ๔ ทินเนอร์ที่จะนำออกขาย ต้องจัดให้มีฉลาก ปิด หรือติดไว้ที่ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุ

ข้อ ๕ ฉลากนั้น ต้องใช้ข้อความเป็นภาษาไทยให้เห็นและอ่านได้ชัดเจน ข้อความในฉลากอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่เป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร ให้ระบุชื่อผู้ผลิตและสถานที่ประกอบการของผู้ผลิต

ในกรณีที่เป็นสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ให้ระบุชื่อผู้นำเข้าและสถานที่ประกอบการของผู้นำเข้า

ในกรณีที่เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นตามความต้องการหรือเพื่อการขายของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น หรือเป็นสินค้าที่นำเข้าเพื่อการขายของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น คู่กรณีจะตกลงกันให้ระบุเฉพาะชื่อผู้ประกอบธุรกิจและสถานที่ประกอบการของผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งแต่เพียงรายเดียวแทนก็ได้ แต่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าดังกล่าวจะต้องส่งสำเนาข้อตกลงดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทราบก่อนจะนำสินค้านั้นออกขาย

ถ้าผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบธุรกิจรายใดมีเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยแล้ว จะระบุเครื่องหมายการค้าแทนชื่อและสถานที่ประกอบการของตนก็ได้

(๒) คำว่า ทินเนอร์

(๓) วัตถุประสงค์ของการใช้

(๔) ส่วนประกอบที่สำคัญ

(๕) ปริมาตรสุทธิเป็นลูกบาศก์เซนติเมตร หรือลูกบาศก์เดซิเมตร

(๖) คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้งาน

(๗) คำเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ไวไฟ ห้ามใช้สูดดม เก็บให้พ้นมือเด็ก

ข้อ ๖ ให้ทินเนอร์ที่ควบคุมฉลากที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีฉลากในขณะนำเข้าที่ด่านศุลกากร แต่ต้องจัดให้มีฉลากตามประกาศนี้ก่อนที่จะนำออกขาย

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๒๙

มาลดี วสีนนท์

ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น