วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก

เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. ๒๕๔๑

โดยที่สินค้าที่ผลิตเพื่อขายโดยโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ ดังนั้น จำต้องกำหนดลักษณะฉลากสินค้าดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลาก จะต้องระบุข้อความ รูป รอยประดิษฐ์หรือภาพตามความเหมาะสม แล้วแต่กรณี แต่ข้อความนั้นจะต้องตรงต่อความเป็นจริงไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยว กับสาระสำคัญของสินค้านั้นและต้องเป็นภาษาไทยหรือภาษาไทยกำกับภาษาต่าง ประเทศ เพื่ออธิบายให้เข้าใจความหมายของรูปรอยประดิษฐ์หรือภาพ ที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อ ๒

ความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช่บังคับกับฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลาก ที่ผลิตขึ้นเพื่อการส่งออกและไม่ขายในประเทศไทย

ข้อ ๒ ฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลาก จะต้องระบุ ดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อประเภท หรือชนิดของสินค้าที่แสดงให้เข้าใจได้ว่าสินค้านั้นคืออะไร ในกรณีที่เป็นสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายให้ระบุชื่อประเทศที่ผลิตด้วย

(๒) ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้ผลิตเพื่อขายในประเทศไทย

(๓) ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย

(๔) สถานที่ตั้งของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือของผู้สั่งหรือผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย แล้วแต่กรณี

(๕) ต้องแสดงขนาดหรือมิติ หรือปริมาณ หรือปริมาตร หรือน้ำหนักของสินค้า นั้น แล้วแต่กรณี สำหรับหน่วยที่ใช้จะใช้ชื่อเต็ม หรือชื่อย่อ หรือสัญลักษณ์แทนก็ได้

(๖) ต้องแสดงวิธีใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้านั้นใช้เพื่อสิ่งใด เช่น ใช้ทำความสะอาดพื้นไม้ หรือพื้นกระเบื้อง ภาชนะพลาสติก หรือภาชนะดินเผา ภาชนะเคลือบใช้ตั้งบนเตาไฟ ใช้เข้าไมโครเวฟ ใช้เก็บอาหารในตู้เย็น

(๗) ข้อแนะนำในการใช้หรือห้ามใช้ เพื่อความถูกต้องในการใช้ที่ให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภค เช่น ห้ามใช้ของมีคมกับการแซะน้ำแข็งในตู้เย็น

(๘) คำเตือน (ถ้ามี)

(๙) วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุการใช้ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน วันเดือนปีที่ระบุนั้น เพื่อให้เข้าใจในประโยชน์ของคุณภาพหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น (ถ้ามี)

(๑๐) ราคา โดยระบุหน่วยเป็นบาท และจะระบุเป็นเงินสกุลอื่นด้วยก็ได้

ข้อ ๓ ในกรณีที่ไม่อาจแสดงฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลากอย่างถูกต้องตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑ และข้อ ๒ รวมไว้ในตำแหน่งที่เดียวกัน เช่น ไม่อาจแสดงไว้ที่สินค้าได้ทั้งหมด ก็ให้แสดงข้อความรูป รอยประดิษฐ์หรือภาพ อย่างหนึ่งอย่างใดไว้ในส่วนหนึ่งส่วนใดที่สินค้าหรือที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือสอดแทรกหรือรวมไว้กับสินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือในเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบกับสินค้า หรือป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้น แต่เมื่อรวมการแสดงฉลากไว้ทุกแห่งแล้ว ต้องสามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน

ข้อ ๓ ทวิ[๑] ให้สินค้าที่ควบคุมฉลากดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องติดฉลากตามข้อ ๑ และข้อ ๒ ภายใต้เงื่อนไขดังนี้

(๑) สินค้าที่ขายส่งแก่ผู้ประกอบการใช้ในโรงงานหรือสถานประกอบกิจการให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องติดฉลาก

(๒) สินค้าประเภทเครื่องจักรกล หรืออุปกรณ์ หรืออะไหล่ของสินค้าประเภทเครื่องจักรกล หรือรถยนต์ หรือรถไถ หรือรถอื่น ๆ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องสูบน้ำ และสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง หากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อ ๓ ได้ครบถ้วน ให้แสดงฉลากราคาและข้อความอื่นตามข้อ ๒ ไว้ในคู่มือหรือเอกสารหรือบัญชีราคาสินค้า (Price List) ไว้ ณ จุดที่ขาย

(๓) สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไม่ต้องติดฉลาก

ข้อ ๓ ตรี[๒] สินค้าประเภทน้ำมันเครื่อง ให้ทำฉลากตามข้อ ๑ ข้อ ๒ และให้ระบุเครื่องหมายและเลขทะเบียนคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นเหลวตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทะเบียนการค้า ในประเภทน้ำมันเครื่องด้วย

ข้อ ๓ จัตวา[๓] สินค้าประเภทก๊าชหุงต้ม ให้ทำฉลากตามข้อ ๑ ข้อ ๒ และให้แสดงเครื่องหมายประจำตัวของผู้บรรจุก๊าชตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทะเบียนการค้าในประเภทก๊าชหุงต้มด้วย

ข้อ ๔ ในกรณีที่สินค้าใดเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้ผู้ผลิตเพื่อขายในประเทศไทย และผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย เป็นผู้จัดทำฉลากของสินค้าตามประกาศฉบับนี้ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๖๐ วัน นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

ในกรณีที่สินค้าใดเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากตามที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากประกาศกำหนด ตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ อยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ ให้สินค้านั้นมีฉลากตามประกาศดังกล่าวใช้ได้ต่อไปภายในระยะเวลาไม่เกิน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

ข้อ ๕ ให้เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้รักษาการตามประกาศฉบับนี้

ข้อ ๖[๔] ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑

มาลดี วสีนนท์

ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก


ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒[๕]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น