วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บอแรกซ์

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก

ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๔)

เรื่อง ให้บอแรกซ์เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก[๑]

โดยที่มีการนำบอแรกซ์มาใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยใช้ในอาหาร ซึ่งมีผลทำให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพของผู้บริโภคที่รับประทานอาหารที่มีบอแรกซ์ผสมอยู่ ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย จึงสมควรแก้ไขการกำหนดข้อความในฉลากเกี่ยวกับบอแรกซ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๕) เรื่อง กำหนดบอแรกซ์เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕ และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๖) เรื่อง กำหนดบอแรกซ์เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖

ข้อ ๒ ในประกาศฉบับนี้ “บอแรกซ์” หมายความว่า สารเคมีที่มีสูตร Na2 B4 O7 หรือ Na2 B4 O7 .1OH2 O ซึ่งมีชื่อเรียกทางเคมีว่า โซเดียมบอเรต (Sodium borate) ไดโซเดียมเตตราบอเรต (Disodium tetraborate) หรือโซเดียมไพโรบอเรต (Sodium pyroborate) หรือสารเคมีดังกล่าวที่เรียกชื่ออย่างอื่น เช่น น้ำประสานทอง เพ่งแซ หรือผงกรอบ

ข้อ ๓ ให้บอแรกซ์เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

ข้อ ๔ ฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลากตามข้อ ๓ ให้ปฏิบัติตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ แห่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ และให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ไว้ในฉลากที่ภาชนะบรรจุสินค้าในหน้าเดียวกัน

“(๑) “บอแรกซ์”

(๒) คำเตือน : “อันตราย อาจทำให้ไตวาย ห้ามใช้ในอาหาร” โดยใช้ตัวอักษรสีแดงขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น”

ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔

มาลดี วสีนนท์

ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น