วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พัดลมไฟฟ้า

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก

ฉบับที่ ๖๗ (พ.ศ. ๒๕๓๘)

เรื่อง กำหนดพัดลมไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการว่าด้วยฉลากออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิก

(๑) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๒๖) เรื่อง กำหนดพัดลมไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๒๖

(๒) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๕๔ (พ.ศ. ๒๕๓๔) เรื่อง กำหนดพัดลมไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๔

ข้อ ๒ ให้พัดลมไฟฟ้าทุกชนิดเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

ข้อ ๓ ประกาศฉบับนี้ไม่ใช้บังคับแก่พัดลมไฟฟ้าที่ผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(๑) พัดลมไฟฟ้าดังกล่าวต้องแสดงข้อความให้เห็นและอ่านได้ชัดเจนไว้ที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุเป็นภาษาไทยว่า สำหรับส่งออกเท่านั้น หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า “For Export Only”

(๒) พัดลมไฟฟ้าดังกล่าวต้องอยู่ในความครอบครองของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อการส่งออก หรือผู้ผลิต ผู้ขาย หรือผู้จัดหาสินค้านั้นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อการส่งออก

ข้อ ๔ พัดลมไฟฟ้าที่จะนำออกขาย ต้องจัดให้มีฉลากตามข้อ ๕ ปิดหรือติดไว้ที่พัดลมไฟฟ้า และต้องจัดให้มีเอกสารหรือคู่มือตามข้อ ๖

ข้อ ๕ ฉลากที่พัดลมไฟฟ้านั้น ต้องใช้ข้อความเป็นภาษาไทยให้เห็นและอ่านได้ชัดเจน ข้อความในฉลากอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องแสดงข้อความเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจดังนี้

(ก) ในกรณีที่เป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร ให้ระบุชื่อผู้ผลิตและสถานที่ประกอบการที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยของผู้ผลิต แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นตามความต้องการหรือเพื่อการขายของผู้ประกอบธุรกิจรายใด ให้ระบุชื่อและสถานที่ประกอบการที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าที่ผลิตขึ้น

(ข) ในกรณีที่เป็นสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายให้ระบุชื่อผู้นำเข้าและสถานที่ประกอบการที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยของผู้นำเข้า แต่ถ้าเป็นสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการขายของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นที่มิใช่ผู้นำเข้า ให้ระบุชื่อและสถานที่ประกอบการที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าที่ได้นำเข้านั้น

ถ้าผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า หรือผู้ประกอบการธุรกิจรายใดมีเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทย จะระบุเครื่องหมายการค้าแทนชื่อและสถานที่ประกอบการของตนก็ได้

(๒) ชื่อประเทศที่ผลิต

(๓) แรงดันไฟฟ้าที่กำหนด หรือช่วงแรงดันไฟฟ้าที่กำหนด โดยระบุหน่วยเป็นโวลต์ หรือมีตัวอักษร V แทนก็ได้

(๔) กำลังไฟฟ้าที่กำหนด โดยระบุหน่วยเป็นวัตต์ หรือมีตัวอักษร W แทนก็ได้

(๕) ความถี่ที่กำหนด หรือช่วงความถี่ที่กำหนด โดยระบุหน่วยเป็นเฮิรตซ์ หรือมีตัวอักษร Hz แทนก็ได้

(๖) เดือนและปีที่ผลิต หรือรุ่นที่ผลิต ซึ่งจะใช้เป็นรหัสแทนก็ได้

(๗) ขนาดพัดลมไฟฟ้า ให้ระบุหน่วยเป็นมิลลิเมตร หรือมีตัวอักษร mm แทนก็ได้ โดยวัดจากเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลมที่ลากผ่านปลายสุดของใบพัดลม

(๘) ตำแหน่งต่าง ๆ ของการควบคุมอัตราเร็ว ต้องแสดงด้วยตัวเลข อักษร หรือสัญลักษณ์อย่างอื่นที่มองเห็นและเข้าใจง่าย ถ้าใช้ตัวเลขแสดงตำแหน่งต่าง ๆ ตำแหน่ง ปิด ให้ใช้ตัวเลข ๐ ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ให้ใช้ตัวเลขที่สูงขึ้นตามลำดับอัตราเร็วและตัวเลข ๐ ต้องไม่ใช้แสดงตำแหน่งอื่นๆ อีก

ข้อ ๖ เอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบกับพัดลมไฟฟ้าต้องใช้ข้อความเป็นภาษาไทย ข้อความในเอกสารหรือคู่มืออย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

(๑) คำแนะนำและคำเตือนการใช้พัดลมไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยและประหยัด

(๒) การบำรุงรักษา

(ก) คำแนะนำวิธีทำความสะอาดและการรักษาพัดลมไฟฟ้า

(ข) การเปลี่ยนชิ้นส่วน ให้แสดงด้วยรูปของพัดลมไฟฟ้าแยกเป็นส่วนๆ โดยเฉพาะส่วนสำคัญที่อาจเปลี่ยนได้พร้อมรูปของเครื่องมือที่ใช้และคำอธิบายหรือคำแนะนำในการเปลี่ยนชิ้นส่วน เช่น สายไฟฟ้า หน้ากาก ใบพัด

(๓) ประเภทของวัสดุฉนวนของขดลวด และตัวเปลี่ยนอัตราความเร็ว (ถ้ามี)

(๔) ค่าประสิทธิภาพการระบายลม โดยระบุหน่วยเป็นลูกบาศก์เมตรต่อนาทีต่อวัตต์ หรือมีตัวอักษร m/min/W แทนก็ได้

ข้อ ๗ ให้พัดลมไฟฟ้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีฉลากในขณะนำเข้าที่ด่านศุลกากร แต่ต้องจัดให้มีฉลากตามประกาศฉบับนี้ก่อนที่จะนำออกขาย

ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[๑]

ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘

มาลดี วสีนนท์

ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น