วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เครื่องปรับอากาศ

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก

ฉบับที่ ๓๓ (พ.ศ. ๒๕๓๐)

เรื่อง กำหนดเครื่องปรับอากาศเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

โดยที่ปรากฏว่า ขณะนี้เครื่องปรับอากาศเป็นสินค้าที่ประชาชนใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่การแสดงลักษณะเฉพาะยังไม่ชัดเจน ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัยของผู้บริโภค สมควรกำหนดเครื่องปรับอากาศเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการว่าด้วยฉลากออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้เครื่องปรับอากาศเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

ข้อ ๒ ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับแก่

(๑) เครื่องปรับอากาศที่ใช้สำหรับยานพาหนะ

(๒) เครื่องปรับอากาศที่ผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(ก) เครื่องปรับอากาศดังกล่าวต้องแสดงข้อความให้เห็นและอ่านได้ชัดเจนไว้ที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุเป็นภาษาไทยว่า สำหรับส่งออกเท่านั้น หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า “For Export Only”

(ข) เครื่องปรับอากาศดังกล่าว ต้องอยู่ในความครอบครองของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อการส่งออก หรือผู้ผลิต ผู้ขาย หรือผู้จัดหาสินค้านั้นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อการส่งออก

ข้อ ๓ เครื่องปรับอากาศที่จะนำออกขาย ต้องจัดให้มีฉลากรวมทั้งเอกสารหรือคู่มือตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ และข้อ ๕

ข้อ ๔ ฉลากต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถมองเห็นและอ่านได้ชัดเจน ปิดหรือติดไว้ที่เครื่องปรับอากาศ และข้อความในฉลากอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องแสดงข้อความเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจดังนี้

(ก) ในกรณีที่เป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร ให้ระบุชื่อผู้ผลิตและสถานที่ประกอบการของผู้ผลิต

(ข) ในกรณีที่เป็นสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายให้ระบุชื่อผู้นำเข้าและสถานที่ประกอบการผู้นำเข้า

(ค) ในกรณีที่เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นตามความต้องการหรือเพื่อการขายของผู้ประกอบ ธุรกิจรายอื่น หรือเป็นสินค้าที่นำเข้าเพื่อการขายของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ผู้ที่เกี่ยวข้องจะตกลงกันให้ระบุเฉพาะชื่อผู้ประกอบธุรกิจและสถานที่ประกอบ การของผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งรายใดแต่เพียงรายเดียวแทนก็ได้ แต่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าดังกล่าวจะต้องส่งสำเนาข้อตกลงดังกล่าวให้สำนักงาน คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทราบก่อนจะนำสินค้านั้นออกขาย

ถ้าผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบธุรกิจรายใดมีเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยแล้ว จะระบุเครื่องหมายการค้าแทนชื่อและสถานที่ประกอบการของตนก็ได้

(๒) ชื่อประเทศที่ผลิต

(๓) แบบหรือรุ่น (model)

(๔) หมายเลขลำดับ (serial number)

(๕) เดือน ปี ที่ผลิต

(๖) แรงดันไฟฟ้า โดยระบุหน่วยเป็นโวลต์

(๗) เฟส (phase)

(๘) ความถี่ โดยระบุหน่วยเป็นเฮิรตซ์

(๙) พิกัดกระแสไฟฟ้าเข้า โดยระบุหน่วยเป็นแอมแปร์

(๑๐) พิกัดกำลังไฟฟ้าเข้า โดยระบุหน่วยเป็นวัตต์

(๑๑) วงจรไฟฟ้า

(๑๒)[๑] ขนาดของขีดความสามารถทำความเย็น โดยระบุเป็นหน่วยเอสไอ

(๑๓)[๒] ค่าประสิทธิภาพการทำความเย็น

(๑๔)[๓] คำเตือนเกี่ยวกับการเปิดปิดเครื่อง เช่น เมื่อปิดเครื่องแล้วปล่อยให้เครื่องพักไม่น้อยกว่า ๓ นาทีก่อนเปิดครั้งต่อไป

กรณีตาม (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) และ (๑๒) จะใช้สัญลักษณ์แทนข้อความนั้นก็ได้[๔]

ข้อ ๕ เอกสารหรือคู่มือสำหรับเครื่องปรับอากาศ ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ตามความเหมาะสม และอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

(๑) ขนาด กว้าง ยาว หนา โดยระบุหน่วยเป็นระบบเมตริก

(๒) น้ำหนักสุทธิ โดยระบุหน่วยเป็นระบบเมตริก

(๓) ชนิดและปริมาณของสารทำความเย็น

(๔) วิธีติดตั้ง

(๕) วิธีใช้และข้อควรระวังในการใช้

(๖) การบำรุงรักษา

ข้อ ๖ ให้เครื่องปรับอากาศที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีฉลากขณะนำเข้าที่ด่านศุลกากร แต่ต้องจัดให้มีฉลากตามประกาศนี้ก่อนที่จะนำออกขาย

ประกาศนี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[๕]

ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๐

มาลดี วสีนนท์

ประธานกรรมการว่าด้วยฉลาก


ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๕๓ (พ.ศ. ๒๕๓๔) เรื่องกำหนดเครื่องปรับอากาศเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ ๒)[๖]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น