วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน

พระราชกฤษฎีกา

กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจ

ที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินและ

ลักษณะของหลักฐานการรับเงิน

พ.ศ. ๒๕๔๒

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒

เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธี การเพื่อให้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญากำหนดให้การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้ บริการเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน และกำหนดลักษณะของหลักฐานการรับเงินที่ผู้ประกอบธุรกิจทำให้กับผู้บริโภค

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓๕ เบญจ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระ ราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมรายการใน หลักฐานการรับเงินและลักษณะของหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒”

มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาจะกำหนดให้การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการใดเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการนั้นจะต้องเข้าลักษณะหนึ่งลักษณะใด ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

(๒) เป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้บริโภค ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ความเข้าใจ และความสันทัดจัดเจน

(๓) เป็นธุรกิจที่หากมีการกำหนดรายการในหลักฐานการรับเงินแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค

มาตรา ๔ การกำหนดลักษณะของหลักฐานการรับเงินต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) การกำหนดรายการในหลักฐานการรับเงินสามารถกระทำได้โดยสภาพ

(๒) ไม่เป็นการเพิ่มภาระเกินควรแก่การประกอบธุรกิจ

(๓) สามารถคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคได้ เช่น ใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบมูลค่าหรือราคาสินค้าหรือบริการ หรือใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ความรับผิดเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือการให้บริการได้

มาตรา ๕ ก่อนออกประกาศกำหนดธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินและลักษณะของหลักฐานการรับเงิน ให้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญารับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยคำนึงถึงขอบเขตและสภาพปัญหา เช่น การจัดสัมมนา การประชุม หรือให้ประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็น ในการนี้จะรับฟังความเห็นจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยก็ได้

มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตราพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ชวน หลีกภัย

นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๓๕ เบญจ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดให้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญามีอำนาจกำหนดให้การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการใดเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน และมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดของลักษณะของหลักฐานการรับเงิน โดยการกำหนดของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น