วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

กฎกระทรวง

ว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน ในโรงภาพยนตร์และทางป้ายโฆษณา

พ.ศ. ๒๕๔๗[๑]

อาศัย อำนาจตามความในมาตรา ๘ และมาตรา ๒๒ วรรคสอง (๕) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและ เสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๙ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ให้ข้อความดังต่อไปนี้ เป็นข้อความที่เข้าลักษณะตามมาตรา ๒๒ วรรคสอง (๕)

ข้อ ๑ ข้อ ความโฆษณาเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นสุรา ไวน์ เบียร์ สาโท หรือเครื่องดื่มอื่นใด ซึ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่าร้อยละศูนย์จุดห้าของน้ำหนัก และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน ซึ่งได้โฆษณาในโรงภาพยนตร์ โดยข้อความโฆษณาดังกล่าวมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) ข้อความที่เชิญชวนให้บริโภคหรืออวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของเครื่องดื่มดังกล่าว โดยทางตรงหรือทางอ้อม

(๒) ข้อความที่เป็นการเสนอภาพลักษณ์ของบริษัทหรือกิจการ ที่กระทำการโฆษณาในลักษณะส่งเสริมสังคม ศีลธรรมหรือวัฒนธรรมอันดีงาม ซึ่งแสดงชื่อ สัญลักษณ์ หรือภาพผลิตภัณฑ์ของเครื่องดื่มดังกล่าวในช่วงหนึ่งช่วงใดของข้อความโฆษณา หรือในช่วงท้ายของข้อความโฆษณาโดยไม่ได้แสดงคำเตือนให้ถูกต้องครบถ้วน

(๓) ข้อความที่ระบุหรือประกาศว่าผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วย การเสี่ยงโชค หรือจัดให้มีการให้ของแถม หรือให้สิทธิหรือประโยชน์โดยให้เปล่า

ข้อ ๒ ข้อ ความโฆษณาเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นสุรา ไวน์ เบียร์ สาโท หรือเครื่องดื่มอื่นใด ซึ่งมีประมาณแอลกอฮอล์มากกว่าร้อยละศูนย์จุดห้าของน้ำหนัก และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน ทางป้ายโฆษณา โดยข้อความโฆษณาดังกล่าวมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) ข้อความที่เชิญชวนให้บริโภคหรืออวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของเครื่องดื่มดังกล่าว โดยทางตรงหรือทางอ้อม

(๒) ข้อความที่เป็นการเสนอภาพลักษณ์ของบริษัทหรือกิจการ ที่กระทำการโฆษณาในลักษณะส่งเสริมสังคม ศีลธรรมหรือวัฒนธรรมอันดีงาม ซึ่งแสดงชื่อ สัญลักษณ์ หรือภาพผลิตภัณฑ์ของเครื่องดื่มดังกล่าว โดยไม่ได้แสดงคำเตือนให้ถูกต้องครบถ้วน

(๓) ข้อความที่ระบุหรือประกาศว่าผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วย การเสี่ยงโชค หรือจัดให้มีการให้ของแถม หรือให้สิทธิหรือประโยชน์โดยให้เปล่า

ข้อ ๓ ข้อ ความโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นข้อความตามข้อ ๑ (๑) และข้อ ๒ (๑)

(๑) ข้อความโฆษณาที่ทำให้เกิดทัศนคติว่า จะทำให้ประสบความสำเร็จในทางสังคมหรือทางเพศ หรือทำให้สมรรถภาพทางร่างกายดีขึ้น

(๒) ข้อความโฆษณาที่ใช้นักกีฬา หรือผู้ใช้แรงงาน เป็นผู้โฆษณา

(๓) ข้อความโฆษณาที่ใช้ดารา นักร้อง หรือนักแสดง เป็นผู้โฆษณา

(๔) ข้อความโฆษณาที่ใช้ภาพการ์ตูน

(๕) ข้อความโฆษณาที่ชักจูงหรือโน้มน้าวให้ซื้อหรือบริโภค เพื่อนำรายได้ไปบริจาคเป็นสาธารณกุศล

ข้อ ๔ การแสดงคำเตือนการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ตามข้อ ๑ (๒) และข้อ ๒ (๒) ต้องมีข้อความอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) ข้อความว่า การดื่มสุราแล้วขับขี่รถจะเป็นอันตรายและผิดกฎหมาย

(๒) ข้อความว่า การจำหน่ายสุราแก่บุคคลอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ผิดกฎหมาย

(๓) ข้อความว่า การดื่มสุราเป็นอันตรายต่อสุขภาพและบั่นทอนสติสัมปชัญญะ

ข้อ ๕ การแสดงคำเตือนการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ตามข้อ ๑ (๒) ในโรงภาพยนตร์ ต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) แสดงคำเตือนในส่วนเสียงโฆษณาฟังได้ชัดเจนทุกพยางค์ และเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามวินาที

(๒) แสดงคำเตือนเป็นอักษรลอยเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าวินาที โดยต้องแสดงด้วยตัวอักษรสีขาว ขนาดความสูงของตัวอักษรไม่น้อยกว่าหนึ่งส่วนในยี่สิบห้าส่วนของขนาดความสูง ของจอภาพ ภายในกรอบพื้นสีเข้มตัดกับสีพื้นโฆษณา และมีพื้นที่กรอบขนาดหนึ่งส่วนในสิบส่วนของความสูงจอภาพ โดยมีรูปแบบของตัวอักษรอ่านได้ง่ายและชัดเจน วางไว้ ณ ตำแหน่งด้านบนหรือด้านล่างสุดของพื้นที่โฆษณา

ข้อ ๖ การ แสดงคำเตือนการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ตามข้อ ๒ (๒) ทางป้ายโฆษณา ให้แสดงคำเตือนตามแนวนอนอยู่ด้านบนสุดของพื้นที่โฆษณาด้วยตัวอักษรสีขาวบน แถบสีเข้ม มีขนาดของพื้นที่คำเตือนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของพื้นที่โฆษณา และขนาดของตัวอักษรไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของพื้นที่คำเตือน โดยให้สามารถอ่านได้ชัดเจน

ข้อ ๗ ข้อความโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นข้อความตามข้อ ๑ (๑) และข้อ ๒ (๑)

(๑) ข้อความโฆษณาที่ทำให้เกิดทัศนคติที่เกี่ยวกับการเพิ่มพลัง เช่น ทำงานได้มากขึ้นหรือเร็วขึ้น ไม่รู้สึกง่วง หรือทำให้ประสบความสำเร็จในทางสังคมหรือทางเพศ

(๒) ข้อความโฆษณาที่ใช้นักกีฬา หรือผู้ใช้แรงงาน เป็นผู้โฆษณา

(๓) ข้อความโฆษณาที่ใช้ดารา นักร้อง หรือนักแสดง ที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เป็นผู้โฆษณา

(๔) ข้อความโฆษณาที่ชักจูงหรือโน้มน้าวให้ซื้อหรือบริโภค เพื่อนำรายได้ไปบริจาคเป็นสาธารณกุศล

ข้อ ๘ การแสดงคำเตือนการโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนตามข้อ ๑ (๒) และข้อ ๒ (๒) ต้องมีข้อความว่า ไม่ควรดื่มเกินวันละ ๒ ขวด เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม

ข้อ ๙ การแสดงคำเตือนการโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนในโรงภาพยนตร์ตามข้อ ๑ (๒) ต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) แสดงคำเตือนในส่วนเสียงโฆษณาฟังได้ชัดเจนทุกพยางค์ และเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามวินาที

(๒) แสดงคำเตือนเป็นอักษรลอยเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าวินาที โดยต้องแสดงด้วยตัวอักษรสีขาว ขนาดความสูงของตัวอักษรไม่น้อยกว่าหนึ่งส่วนในยี่สิบห้าส่วนของขนาดความสูง ของจอภาพภายในกรอบพื้นสีเข้มตัดกับสีพื้นโฆษณา และมีพื้นที่กรอบขนาดหนึ่งส่วนในสิบส่วนของความสูงจอภาพ โดยมีรูปแบบของตัวอักษรอ่านได้ง่ายและชัดเจน วางไว้ ณ ตำแหน่งด้านบนหรือด้านล่างสุดของพื้นที่โฆษณา

ข้อ ๑๐ การ แสดงคำเตือนการโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนทางป้ายโฆษณาตามข้อ ๒ (๒) ให้แสดงคำเตือนด้วยตัวอักษรสีขาว ขนาดความสูงของตัวอักษรไม่น้อยกว่าหนึ่งส่วนในยี่สิบห้าส่วนของขนาดความสูง ของพื้นที่โฆษณา ภายในกรอบพื้นสีเข้มตัดกับสีพื้นโฆษณา และมีพื้นที่กรอบขนาดหนึ่งส่วนในสิบส่วนของความสูงพื้นที่โฆษณา โดยมีรูปแบบของตัวอักษรอ่านได้ง่ายและชัดเจน วางไว้ ณ ตำแหน่งด้านบนหรือด้านล่างสุดของพื้นที่โฆษณา

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันมีการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และเครื่อง ดื่มที่ผสมกาเฟอีนทางสื่อต่าง ๆ โดยรวมถึงการโฆษณาในโรงภาพยนตร์และทางป้ายโฆษณาที่กระทำกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อทัศนคติและค่านิยมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของประเทศ และโดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังมิได้กำหนดให้ข้อความโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และ เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน ในโรงภาพยนตร์และทางป้ายโฆษณา เป็นข้อความที่เข้าลักษณะตามมาตรา ๒๒ วรรคสอง (๕) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ดังนั้น สมควรกำหนดให้ข้อความโฆษณาเครื่องดื่มดังกล่าว เป็นข้อความที่เข้าลักษณะตามมาตรา ๒๒ วรรคสอง (๕) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ด้วย จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ถูกยกเลิกโดยผลของพระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑

ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าหรือบริการ ร้องเรียนที่

ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก

งานนิติการ กองวิชาการและแผนงาน

สำนักงานเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก โทร.073-615295


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น